ไม่มีคำว่าดีเลย์สำหรับนกแอร์อีกต่อไป

  • ทุ่มงบ 100ล้านบาทสต๊อกอะไหล่ อุปกรณ์ สแปพาสพร้อมซ่อมทันทีไม่ต้องรอ
  • พร้อมปั้นรายได้เสริมเพิ่มรายได้จจาก15%เป็น20%
  • ลุยเปิดช่องทางขายตั๋วเข้าถึงผู้โดยสารผ่านซีเอ็ด บุ๊คที่มี 350สาขาทั่วประเทศ

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด(มหาชน)หรือ NOKผู้ให้บริการสายการบินนกแอร์ เปิดเผยว่า ขณะนี้นกแอร์ถือได้ว่ามีสภาพคล่องดีขึ้นจากเดิม เนื่องจากได้มีการกู้เงินจากผู้ถือหุ้นใหญ่มาเสริมสภาพคล่องจำนวน 3,000 ล้านบาท และจะมีการเสนอแผนฟื้นฟูให้บอร์ดนกแอร์ ปีหน้า เนื่องจากบอร์ดให้ฝ่ายบริหารมาปรับปรุงแผนให้มีความสอดคล้องกับภาวะการแข่งขันสูงของธุรกิจการบิน โดยนโยบายหลักที่จะเร่งดำเนินการขณะนี้คือ ปรับภาพลักษณ์การให้บริการของนกแอร์ ลดปัญหาการดีเลย์ในทุกเที่ยวลินและเส้นทางบิน ซึ่งมั่นใจว่าในปีหน้าปัญหาการดีเลย์จะหมดไป เนื่องจากได้มีการทุ่มงบประมาณกว่า 100 ล้านบาทในการสต็อกอะไหล่ อุปกรณ์ สแปพาสชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องบิน หากเกิดปัญหาด้านเครื่องยนต์ต่อไปจะไม่ต้องรออะไหล่จากต่างประเทศเพื่อรอซ่อมอีกต่อไป ซึ่งจะทำให้การซ่อมเครื่องบินเพื่อมาหมุนเวียนการขนส่งผู้โดยสารไม่ติดขัดอีกต่อไป

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด(มหาชน)

นอกจากนั้นนกแอร์จะเพิ่มช่องทางการจำหน่ายตั๋วผ่านร้านซีเอ็ด บุ๊ก ที่ บริษัทเครือซัมมิท กรุ๊ป ถือหุ้นอยู่กว่า 350 สาขาทั่วประเทศ เบื้องต้นปีหน้าจะเริ่มที่สาขาใน กทม. ก่อน หลังจากนั้นจะขยายไปหัวเมืองต่างจังหวัด ให้ครบทั่วประเทศ สาเหตุที่เพิ่มช่องทางการจำหน่ายเนื่องจาก ร้านซีเอ็ด จะตั้งอยู่ในชุมชุม ห้างสรรพสินค้าทั่วไปเช่นในห้างเดอะมอลล์, โลตัส,บิ๊กซี ,โฮมโปร ซึ่งปัจจุบันมีสาขาและเข้าถึงประชาชน ชุมชนจำนวนมาก

นายวุฒิภูมิ กล่าวว่า นโยบายจะเดินหน้าลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในทุกส่วนงาน ซึ่งในส่วนของการลดรายจ่าย โดยเฉพาะในเรื่องของการบำรุงรักษาซ่อมเครื่องบิน จากเดิมจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มาก ล่าสุดได้มีการเปลี่ยนคู่สัญญาบริษัทซ่อม บำรุงรักษาเครื่องบิน จากเดิมต้องนำเครื่องนกแอร์ไปซ่อมที่ประเทศสิงคโปร์ ก็เปลี่ยนมาเป็น นกแอร์ลงทุนตั้งศูนย์ซ่อมเอง ซึ่งการลงทุนศูนย์ซ่อมเองจะทำให้นกแอร์ลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลงกว่า 10%

ส่วนการเพิ่มรายได้นั้นจะเน้นในการขายของอุปกรณ์เสริมต่างๆทั้งในเรื่องของ ขายน้ำหนักกระเป๋า , ขายที่นั่ง ,ของที่ระลึก ,ขายประกันการเดินทาง และขายตั๋วพรีเมี่ยม ซึ่งในส่วนนี้ปัจจุบันทำรายได้กว่า 1,600 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนรายได้ที่ 15% และมีแผนที่จะปรับแผนให้รายได้ส่วนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 17%ในปี 63 และ 20%ในปีต่อๆไป ซึ่งหากพิจารณารายได้เสริมที่โดยเฉลี่ยแต่ละสายการบินทำรายได้ในส่วนนี้จะพบว่า บางสายการบินสปิริท แอร์ ของอเมริกา ที่สามารถทำรายได้ส่วนนี้พุ่งกว่า 40%

นายวุฒิภูมิ ยังได้กล่าวถึงผลการดำเนินการในปี 62 ว่า ช่วง3ไตรมาสที่ผ่านมา นกแอร์ขาดทุนลดลงเกิน 50%แล้ว คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะขาดทุนลดลงอีก เนื่องจากปีนี้นกแอร์จะรับมอบเครื่องเช่า คือ โบอิ้ง 737-800 จำนวน 2 ลำมาทำการบิน ซึ่ง จะทำให้สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตผู้โดยสารได้10% รวมทั้งจะมีการปรับเพิ่มระยะเวลาการใช้เครื่องบินต่อวันจาก11ชั่วโมง เป็น 12 ชั่วโมงทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น คาดว่าสิ้นปีจะมีจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 7-9ล้านคน

ส่วนปี 63คาดว่าภาวะการแข่งขันในธุรกิจการบินจะรุนแรงกว่าปี นี้ เนื่องจากสายการบินต่างๆ มีการสั่งซื้อเครื่องบินใหม่จำนวนมาก ทำให้นกแอร์ต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันโดยเร่งเพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายอย่างต่อเนื่อง สำหรับแผนการเพิ่มรายได้ปี63 นั้นนกแอร์ จะทยอยรับมอบเครื่องเช่า โบอิ้ง 737-800 อีก 2 ลำ ในเดือนส.ค. และ ต.ค. โดยมีแผนจะนำเครื่องเข้าไปบินเสริมบางเส้นทางของนกสกู๊ต นำร่องเส้นทาง ดอนเมือง-หนานหนิง และจะเพิ่มจุดบินในประเทศอีก 2แห่งคือปลายทาง เชียงใหม่และภูเก็ต

“ปีหน้านกแอร์จะขยายสัดส่วนเส้นทางบินในต่างประเทศให้เพิ่มจาก 20% เป็น 30% โดยมีแผนที่จะเปิดเส้นทางบินเพิ่ม 3 ประเทศ คือญี่ปุ่น อินเดีย และจีน อาทิ ดอนเมือง-โอกินาวา ดอนเมือง-คาโกชิมะ ดอนเมือง-วิสาขพนัม ดอนเมือง-อี้อู ,ดอนเมือง-เห่อเป่ย เป็นต้น และยังมีแผนศึกษาที่จะเปิดบินเชื่อมต่อไปยังสนามบินเบตง

ส่วนคามคืบหน้าในการจัดซื้อเครื่องบิน โบอิ้ง 737 MAX 8 จำนวน 6 ลำ ตามแผนก่อนหน้านี้นั้น ขณะนี้ได้เจรจากับโบอิ้งของเปลี่ยนแบบเป็น โบอิ้ง737-800 แทน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสารหลังจากเกิดข่าวความไม่ปลอดภัยของเครื่องบินรุ่นดังกล่าวโดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียด