“ไพรินทร์” ยันแลกหนี้ทางด่วนการทางพิเศษมาถูกทาง

  • “ไพรินทร์” ยันการทางฯแลกหนี้ทางด่วนมาถูกทาง
  • ย้ำเป็นทางออกที่ดีที่สุดองค์กร-และประชาชน
  • โยนรัฐบาลใหม่ตัดสินและพิจารณา

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยถึงกรณีสัญญาสัมปทานระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ว่าจากข้อเสนอของคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.ที่ส่งมายังกระทรวงคมนาคมในช่วงที่ผ่านมา พบว่าเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้ดำเนินการพิจารณาเจรจากับเอกชนรายดังกล่าว เกี่ยวกับกรณีที่ศาลตัดสินให้ กทพ.แพ้คดี 2 ลักษณะด้วยกัน คือ กรณีสร้างทางแข่งขัน และการไม่อนุมัติปรับขึ้นค่าผ่านทาง แต่ ครม.มีมติให้เจรจาโดยไม่ให้ชำระเป็นเงิน และให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้การพิจารณาของ บอร์ด กทพ.พบว่าได้รวมเอากรณีที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้อง ซึ่งมีลักษณะทางคดีที่คล้ายกันกับ 2 กรณีข้างต้น มาพิจารณาไปพร้อมกัน เพราะต้องการให้ข้อพิพาทระหว่าง กทพ.และบีอีเอ็ม สิ้นสุดต่อไป จึงเกิดเป็นแนวทางในการแลกหนี้จากข้อพิพาททั้งหมด รวมมูลค่ากว่า 1.3 แสนล้านบาท แลกกับการต่อสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี) และทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) ระยะ 15 ปีจากเดิมที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 2563

ไพรินทร์ ชูโชติถาวร

นอกจากนี้ บีอีเอ็มจะต้องลงทุนก่อสร้างและปรับปรุงทางด่วนขั้นที่ 2 เป็นทางด่วน 2 ชั้น (double deck) จากด่านประชาชื่น – อโศก ระยะทาง 17 กิโลเมตร (กม.) รูปแบบเป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร ภายใต้วงเงินการลงทุนประมาณ 31,500 ล้านบาท รวมทั้งเอกชนต้องสร้างทางขึ้น – ลง เชื่อมต่อสถานีกลางบางซื่อตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม โดยการก่อสร้างทางด่วน 2 ชั้น เอกชนจะต้องดำเนินการในขั้นตอนวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี หากสามารถดำเนินการได้ กทพ.จึงจะต่อสัมปทานเพิ่มให้อีก 15 ปี

“คดีข้อพิพาทที่มีต่อกัน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ คดีที่เกี่ยวกับการสร้างทางแข่งขัน ซึ่งคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำตัดสินให้ กทพ.แพ้คดีไปแล้ว ดังนั้นคดีในลักษณะนี้หากศาลตัดสินก็น่าจะมีทิศทางเดียวกัน ส่วนคดีไม่ขึ้นค่าผ่านทาง ศาลชั้นต้นได้ตัดสินแล้ว ให้ กทพ.แพ้คดี และอีกหลายข้อพิพาทในลักษณะนี้ อนุญาโตตุลาการก็มีคำตัดสินให้ กทพ.แพ้ ดังนั้นก็เชื่อว่าเมื่อถึงขั้นตอนศาล ก็จะพิจารณาคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ”

นายไพรินทร์ กล่าวต่อว่า จากการพิจารณาลักษณะข้อพิพาทที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน แนวทางเจรจากับเอกชนจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ และที่ผ่านมา กทพ.ได้เจรจากับบีอีเอ็มไปบ้างแล้ว พบว่ามีการปรับลดมูลหนี้เหลือ 5.9 หมื่นล้านบาท ดังนั้นหากวันนี้มีการตัดสินแลกสัมปทานนอกจาก กทพ.จะจบคดีข้อพิพาททั้งหมด ไม่ต้องใช้เงินตามมติ ครม. แล้ว ประชาชนยังจะได้ประโยชน์จากการก่อสร้าง double deck ซึ่งจะลดความแออัดของปริมาณการจราจรบริเวณทางด่วนขั้นที่ 2 ไปอีก 30 – 40%

อย่างไรก็ดี หาก กทพ.ไม่เจรจากับเอกชน และต้องรอให้ศาลตัดสินทุกข้อพิพาท ก็จะทำให้ กทพ.มีหนี้เพิ่มสูงถึง 1.3 แสนล้านบาท ไม่รวมกับอัตราดอกเบี้ยอีก 7.5% ซึ่งเรื่องนี้ ส่วนตัวคงให้คำตอบไม่ได้ว่าจะต้องตัดสินอย่างไรจึงจะถูก เพราะถือเป็นอำนาจของบอร์ด กทพ. เพียงแต่ต้องการอธิบายถึงที่มาที่ไปของแนวทางแลกหนี้สัมปทานที่เกิดจากการพิจารณาในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นหลังจากนี้ถือเป็นอำนาจของรัฐมนตรีชุดใหม่จะเป็นผู้พิจารณาและตัดสิน