“ไบเดน”ร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนประณามรัฐบาลทหารเมียนมา

.เรียกร้องยุติความรุนแรงทันที-ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง
.ย้ำสหรัฐฯเป็นหุ้นส่วนทางบุทธศาสตร์กับอาเซียน
.มอบเงิน 102 ล้านเหรียญฯหนุนศึกษา สุขภาพ เศรษฐกิจ

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ประณามรัฐบาลทหารเมียนมา ในระหว่างเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อช่วงดึกของคืนวันท่ 26 ต.ค. ตามเวลาประเทศไทย

ประธานาธิบดีไบเดน ได้แสดงความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อการทำรัฐประหาร และเหตุการณ์รุนแรงในเมียนมา พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมายุติความรุนแรงโดยทันที และปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัว รวมทั้งฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยในประเทศ

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีไบเดน ยังได้กล่าวสุนทรพจน์ว่า สหรัฐฯจะขยายความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับอาเซียน โดยจะมอบเงินช่วยเหลือ 102 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 3,300 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการด้านการศึกษา สุขภาพ เศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยจะแบ่งในจำนวนนี้  40 ล้านเหรียญฯ เพื่อสนับสนุนโครงการป้องกันและสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และอีก  20.5 ล้านเหรียญฯ สำหรับการแก้ปัญหาโลกร้อน โดยสหรัฐฯพร้อมที่จะทำงานร่วมกับอาเซียนเพื่อผลประโยชน์และวิสัยทัศน์ร่วมกันในภูมิภาค

ขณะเดียวกัน ยังกล่าวอีกว่า กลุ่มพันธมิตร Quad ประกอบด้วยสหรัฐฯ อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย และความร่วมมือด้านความมั่นคงไตรภาคี (AUKUS) ของสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย จะไม่กระทบต่อเสถียรภาพในภูมิภาค และจะไม่เข้ามามาแทนที่บทบาทของอาเซียนในภูมิภาคนี้

ทั้งนี้ การเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของผู้นำสหรัฐฯในรอบ 4 ปี หลังจากที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เข้าร่วมการประชุมในปี 60 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ แต่หลังจากนั้นได้ปฏิเสธเข้าร่วมการประชุมถึง 3 ปีติดต่อกัน จนทำให้จีนสามารถแผ่อิทธิพลในภูมิภาคดังกล่าว แต่การเข้าร่วมครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณว่า สหรัฐฯยังคงต้องการมีบทบาทในเอเชีย-แปซิฟิก และคานอำนาจจีน

สำหรับเมียนมานั้น รัฐบาลทหารได้บอยคอตการประชุมสุดยอดอาเซียนในสัปดาห์นี้ หลังจากที่อาเซียนไม่ได้เชิญพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา เข้าร่วมการประชุม เพราะเมียนมาไม่ได้ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อในการประชุมผู้นำอาเซียนในเดือนเม.ย.64 ซึ่งเป็นโรดแมปสำหรับการหาทางออกต่อวิกฤตการเมืองภายในประเทศ โดยเฉพาะข้อที่กำหนดให้ต้องอำนวยความสะดวกให้ผู้แทนพิเศษของอาเซียนเดินทางเยือนเมียนมา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ โดยให้เข้าเยี่ยมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ แต่ล่าสุด ทางการเมียนมา อนุญาตให้ นายเอรีวัน เปฮิน ยูซอฟ รมว.ต่างประเทศคนที่สองของบรูไน ซึ่งเป็นผู้แทนพิเศษของอาเซียน เข้าประเทศ แต่ไม่ให้เข้าพบ นางออง ซาน ซูจี และผู้นำฝ่ายค้านคนอื่นๆ