“ไทย-เยอรมัน”ลงนามต่ออายุความร่วมมือพัฒนาระบบรางร่วมกัน-หลังประเทศไทยลุยสร้างรถไฟฟ้าหลากสีทั่วกรุง ทางคู่-ไฮสปีดทั่วไทย

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังร่วมลงนามแสดงเจตจำนงว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ (Joint Declaration of Intent: JDI) ระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีว่า เป็นการร่วมมือกันเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลไทย โดยกระทรวงคมนาคมมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านระบบรางที่เป็นรูปแบบการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน กระทรวงคมนาคมจึงได้เร่งพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดง สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีชมพู สายสีเหลือง สายสีส้ม เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล

 

นอกจากนี้ยังได้พัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ลดเวลาการเดินทาง และเชื่อมโยงธุรกิจและการค้า รวมถึงพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะเป็นหัวข้อหลักของการสัมมนาในวันนี้ โดยรถไฟความเร็วสูงนั้น ประเทศไทยอยู่ระหว่างก่อสร้างจำนวน 2 เส้นทาง หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเชื่อมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านคมนาคมในภูมิภาคต่อไป

นายศักดิ์สยาม ยังได้กล่าวถึงโครงการรถไฟลาว-จีน ซึ่งจะมีการเปิดตัวเดินขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ ในวันที่ 3 ธันวาคมนี้ ในส่วนของกระทรวงคมนาคมก็ได้ทำการศึกษารูปแบบการเชื่อมโยงโครงการโดยมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมขนส่งทางราง (ขร.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รวมถึงบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการโดยกระทรวงคมนาคมได้ รับนโยบายจากรัฐบาล สำหรับข้อมูลเบื้องต้นทราบว่าจำนวนขบวนที่จะวิ่งให้บริการยังไม่มาก ทั้งนี้ ส่วนโครงการรถไฟทางคู่ช่วง ขอนแก่น –นครราชสีมา ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมจะเสนอแผนต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าไม่น่าจะเกินไตรมาสที่ 2 ของปี 65 จะสามารถดำเนินการจัดหาบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการได้

ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงขณะนี้บริษัทที่ปรึกษาอยู่ระหว่างการสำรวจออกแบบรายละเอียด ซึ่งจะเร่งรัดเพื่อให้สรุปรายละเอียดก่อนจะเสนอครม.ภายในปี 65 อย่างไรก็ตาม คาดว่าทั้ง 2 โครงการ ภายในปี 70 จะต้องเปิดให้บริการได้ถึงหนองคายได้  นอกจากนี้ จะต้องมีการก่อสร้างสะพานเพื่อรองรับโครงการรถไฟซึ่งจากเดิมรับรองน้ำหนักได้ 15 ตัน จะต้องเพิ่มเพื่อรับรองน้ำหนักได้ถึง 30 ตัน  เบื้องต้นก็ได้ดำเนินการศึกษาไว้แล้ว

นายศักดิ์สยาม ยังได้กล่าวต่อว่า ประเทศเยอรมนีถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมระบบรางที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยได้วิจัยค้นคว้าและผลิตเทคโนโลยีระบบรางมาอย่างยาวนาน หลายโครงการรถไฟฟ้าก็ได้ใช้เทคโนโลยีจากประเทศเยอรมนี มั่นใจว่าฝ่ายเยอรมนีจะสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของประเทศไทยเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างเท่าเทียมเช่นเดียวกับในเยอรมนี

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่สมาคมระบบรางเยอรมัน-ไทย ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมถึงประสานความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างเยอรมัน-ไทย หวังว่าทั้งสองฝ่ายจะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และฝึกอบรมในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และช่างเทคนิคเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบรถไฟในประเทศไทย ให้ประเทศไทยเป็นแหล่งซ่อมสร้าง แหล่งผลิต และแหล่งรวมวิทยาการระบบรางที่เป็นรูปธรรมภายใต้นโยบาย Thai First เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้

ด้านรศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สมาคมระบบรางเยอรมัน-ไทย (The German-Thai Railway Association)เปิดตัวอย่างเป็นทางการนับเป็นอีกก้าวสำคัญของการถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบรางแก่คนรุ่นใหม่ นักวิจัยและบุคคลากรเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางในประเทศไทย โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีความภูมิใจที่เราเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ร่วมจัดตั้งสมาคมฯ และร่วมช่วยผลักดันให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางราง ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยและเยอรมนี ทั้งนี้คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล มุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมด้านโลจิสติกส์และการขนส่งทางราง โดยเป็นหนึ่งในภารกิจหลัก

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ประเทศไทย และประเทศเยอรมนีได้ลงนามร่วมแสดงเจตจำนงว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ (Joint Declaration of Intent: JDI) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 โดยองค์กรภาครัฐ มหาวิทยาลัย และภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยและสาธารณรัฐเยอรมนี มีการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ประเทศเยอรมนีเป็นประเทศที่มีระบบรางที่เข้มแข็งประเทศหนึ่งของโลก มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง และการบูรณาการระบบด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digitization) และความก้าวหน้าเรื่องระบบไฟฟ้า ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศเยอรมนีในรูปแบบของสมาคม จะช่วยเสริมความต่อเนื่องในการพัฒนาระบบรางในประเทศไทยให้แข็งแกร่ง เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และมีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคต่อไป