ไทย-อียูจับมือประกาศเริ่มต้นเจรจา “เอฟทีเอ”

.หลัง 2 ฝ่ายใช้ความพยายามมานานเกือบ 10 ปี
.”จุรินทร์” ชี้ไทยได้ประโยชน์ภาษีสินค้าเหลือ 0%
.อียูรีบทวิตข้อความประกาศความสำเร็จเช่นกัน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังหารือกับนายวัลดิส ดอมบรอฟสกิส รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอร์เรนซ์ว่า วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของไทยและสหภาพยุโรป (อียู) 27 ประเทศ ที่ประกาศนับหนึ่งอย่างเป็นทางการ เริ่มต้นเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-อียู หลังจากที่ใช้ความพยามเปิดเจรจามานานเกือบ 10 ปี ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่ 3 ในอาเซียนต่อจากเวียดนาม และสิงคโปร์ ที่ทำเอฟทีเอกับอียู โดยตั้งเป้าหมายเจรจาให้เสร็จภายใน 2 ปี หรือภายในปี 68 ซึ่งจะเริ่มต้นเจรจานัดแรกระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเดือนก.ค.นี้ ที่ไทย โดยฝ่ายไทยจะมีอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะเจรจา


“การประกาศนับหนึ่งเริ่มต้นเจรจาอย่างเป็นทางการครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ผมได้นำคณะเดินทางไปเจรจากับอียูที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมเมื่อวันที่ 25 ม.ค.66 และนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการเจรจาวันที่ 14 ก.พ.66 ซึ่งเอฟทีเอนี้จะเป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งในเรื่องการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน รวมถึงความมือทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ โดยหลังจากการเจรจาสำเร็จทุกอย่างแล้ว จะเสนอให้ครม.พิจารณาเห็นชอบ และเสนอสภาก่อนให้สัตยาบันความตกลงนี้ และเมื่อรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลรักษาการแล้ว จะไม่มีผลกระทบต่อการเจรจาแน่นอน”


สำหรับผลประโยชน์ที่ชัดเจนสำหรับไทย คือ 1.เมื่อมีผลบังคับใช้แล้ว ภาษีการส่งออกสินค้าไทยไปอียู 27 จะเป็นศูนย์ ทำให้สินค้าไทยมีแต้มต่อกับประเทศที่ไม่ได้ทำเอฟทีเอกับอียู เช่น ยานยนต์และส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เสื้อผ้าสิ่งทอ อาหาร ยางพารา เคมีภัณฑ์และพลาสติก เป็นต้น 2.ภาคบริการ จะสร้างโอกาสในสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ เช่น ค้าส่ง-ปลีก การผลิต อาหาร ท่องเที่ยว เป็นต้น 3.การนำเข้าวัตถุดิบจากอียู ภาษีจะเป็นศูนย์เช่นกัน ช่วยลดต้นให้กับภาคการผลิต โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์และเคมีภัณฑ์


4.การแลกเปลี่ยนการลงทุนระหว่างกัน ไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม 5.ช่วยดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก เพราะเมื่อเข้ามาลงทุนในไทยแล้วส่งออกไปอียู เสียภาษีนำเข้าเป็น 0% ช่วยเพิ่มตัวเลขการลงทุน และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ได้ 6.เพิ่มจำนวนเอฟทีเอของไทยให้มากขึ้น จากปัจจุบันมี 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ เป็น 15 ฉบับกับ 45 ประเทศหลังมีผลบังคับใช้


สำหรับประเด็นข้อกังวลของภาคประชาสังคม ที่ถือเป็นความอ่อนไหวของไทย เช่น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมศาสตร์ (จีไอ) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ฯลฯ จะเปิดทางให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมเสนอความเห็น และมีส่วนในการเจรจาอยู่แล้ว


ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ก่อนการเจรจานัดแรกกับอียู ฝ่ายไทยจะหารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมทีมเจรจา เตรียมประเด็น และเตรียมแผนการเจรจา โดยเอฟทีเอฉบับนี้จะมีความทันสมัย ซึ่งประเด็นที่จะเจรจาก็จะมีเรื่องใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเข้าไปด้วย เช่น การค้าดิจิทัล, การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่จะมีเรื่องย่อยๆ เช่น สิ่งแวดล้อม แรงงาน สภาพภูมิอากาศ การต่อต้านคอร์รัปชัน, การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ เป็นต้น ส่วนข้อกังวลของภาคประชาสังคม ก่อนการเจรจากับอียู จะหารือกับภาคประชาสังคมก่อน และหลังจากเจรจากับอียูแล้ว ก็จะแจ้งให้ทราบด้วย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และยอมรับได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่นายจุรินทร์ ได้หารือกับ นายวัลดิส ดอมบรอฟสกิส เสร็จ นายนายวัลดิส ได้ทวิตข้อความประกาศความสำเร็จครั้งนี้ทันทีว่า “อียูและไทยเริ่มเจรจาทำความตกลงการค้าระหว่างกัน” โดยย้ำว่า ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เริ่มต้นเจรจาอีกครั้งกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน โดยเอฟทีเอไทย-อียู ที่มีความทันสมัย และมีพลวัต จะก่อให้เกิดประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย อีกทั้งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และความสัมพันธ์ที่หลากหลายในด้านการค้าระหว่างอียูและอินโดแปซิฟิก