ไทยใช้ยาคลาดเคลื่อน 1 แสนครั้งต่อปี กระทบผู้ป่วย 1.5% ตั้งเป้าลดให้ได้ครึ่ง

  • เดินหน้าสร้างความปลอดภัยผู้ป่วย
  • ลดความเสี่ยงเดินเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

วันที่ 17 กันยายน 2565 ที่ โรงแรมมิราเคิล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเป็นประธานเปิดการประชุมวันแห่งความปลอดภัยผู้ป่วยโลก ครั้งที่ 4 และวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย ครั้งที่ 6 ว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาสะท้อนว่าผู้ป่วยมีโอกาสไม่ปลอดภัยถ้าบุคคลากรที่ดูแลผู้ป่วยไม่มีความปลอดภัย สำหรับวันแห่งความปลอดภัยฯ ปีนี้องค์การอนามัยโลกได้ให้ความสำคัญ เรื่องความปลอดภัยด้านยาจึงเชิญชวนประเทศสมาชิกกำหนดเป้าหมาย เพื่อลดอันตรายจากการใช้ยา ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทยที่กำหนด และมีการขับเคลื่อนผ่านโครงการการ 2P Safety Hospital ซึ่งปัจจุบันมีรพ.เข้าร่วม 855 แห่ง มีการพัฒนาระบบบริการที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสำหรับทุกคน มีระบบรายงานอุบัติการณ์ความเสี่ยง เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เกิดการวิเคราะห์ข้อมูลเฝ้าระวัง วางแผนพัฒนาเชิงระบบ และพัฒนานวัตกรรมความปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยและบุคลากรตามมา
 
ด้าน พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. กล่าวว่า ประเทศไทยกำหนดเรื่องความปลอดภัยด้านยา เป็นหนึ่งในเป้าหมายความปลอดภัยของผู้ป่วย และกำหนดเป็นเกณฑ์ประเมินมาตรฐานสถานพยาบาล ทุกรพ.ที่จะผ่านการรับรอง ต้องมีแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาผิดพลาดคลาดเคลื่อน มีระบบรายงานอุบัติการณ์ มีกระบวนการทบทวนและมีแผนบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาที่ต่อเนื่อง
 
ทั้งนี้ จากรายงานข้อมูลระดับสากล พบการใช้ยาเป็นเรื่องที่มีโอกาสเกิดข้อผิดพลาด คลาดเคลื่อนได้มากที่สุด ทั้งจ่ายยาผิดคน ผิดขนาด ผิดชนิด ใช้ยาผิดวิธี ส่วนอุบัติการณ์ในไทยพบความคลาดเคลื่อนจากการใช้ยาประมาณ 1 แสนครั้งต่อปี ในจำนวนนี้ส่งผลกระทบถึงตัวผู้ป่วย 1.5% ถือว่าประเทศไทยมีการพัฒนาระบบป้องกันความคลาดเคลื่อนทางยาที่ดี มีการตรวจก่อนถึงมือผู้ป่วย ใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้บริการ ประชาชนและญาติช่วยกันตรวจสอบ โดยในปีนี้ตั้งเป้าลดอุบัติการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ถึงตัวผู้ป่วยด้านยาลง 50%