ไทยยังไม่พ้นบ่วง “ประเทศถูกจับตา” ของสหรัฐฯ

  • ปีนี้ยังอยู่บัญชีถูกจับตามองด้านทรัพย์สินทางปัญญา
  • แต่ยันสหรัฐฯไม่ใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าไทยแน่
  • พาณิชย์จับมือผู้เกี่ยวข้องลุยให้หลุดบ่วงมหามิตรในอนาคต

  นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ในช่วงปลายเดือนเม.ย.64 ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) ได้ประกาศสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้ารายสำคัญ ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 64 โดยคงสถานะของไทยในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (ดับบลิวแอล) ต่อเนื่องอีกปีนับจากปี 61  สำหรับสาเหตุที่ไทยยังอยู่บัญชีดังกล่าว ยูเอสทีอาร์ให้เหตุผลว่า รัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญด้านการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา  

  นอกจากนี้ ยังชื่นชมกระทรวงพาณิชย์ ที่พัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง มีการปราบปรามการละเมิด ทั้งในท้องตลาดและบนอินเทอร์เน็ต พัฒนากฎหมายให้ทันสมัย เตรียมการเข้าเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศ เช่น ความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ  และสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์แห่งองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก รวมถึงจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญา  

  “แต่ยังมีข้อกังวลในบางประเด็น เช่น การคุ้มครองและการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และการละเมิดทรัพย์ในช่องทางต่างๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผลการจัดสถานะคู่ค้าของไทยในปีนี้ ถือว่าน่าพอใจ หลังจากนี้ กรมจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯ จัดทำแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อผลักดันให้ไทยหลุดจากทุกบัญชีในอนาคต ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ” 

  นายวุฒิไกร กล่าวว่า การที่ไทยมุ่งมั่นพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะส่งผลให้ไทยรักษาสถานะในบัญชีดับบลิวแอล และทำให้สหรัฐฯไม่ใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าไทย แล้ว ยังมีส่วนเสริมสร้างบรรยากาศทางการค้าการลงทุนในประเทศ และสร้างแรงจูงใจให้คนไทยคุ้มครองและใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญามากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ  

  สำหรับประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในบัญชีดับบลิวแอลในปีนี้ มีทั้งสิ้น 23 ประเทศ ปี เช่น ไทย เวียดนาม ปากีสถาน จีเรีย โรมาเนีย ตุรกี บราซิล แคนาดา เปรู เป็นต้น ส่วนบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (พีดับบลิวแอล) ซึ่งเป็นประเทศที่มีการละเมิดรุนแรง มี 9 ประเทศ ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย อินเดีย ซาอุดิอาระเบีย รัสเซีย ยูเครน อาร์เจนตินา ชิลี และเวเนซุเอลา 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ไทยยังอยู่บัญชีดับบลิวแอลเช่นเดิม แต่สหรัฐฯยังมีข้อกังวลหลายอย่างสำหรับไทย เช่น การขายสินค้าละเมิดทั้งในตลาดทั่วไป และบนอินเตอร์เน็ตที่มีเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งต้องการให้ไทยแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น, การพิจารณารับจดสิทธิบัตรที่ยังล่าช้า และมีจำนวนคำขอที่ยังรอการพิจารณาอยู่มาก, การใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งในหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน, การขโมยใช้สัญญาณดาวเทียมและเคเบิลทีวี เป็นต้น