ไทยพาณิชย์ส่งสัญญาณกนง.จ่อคิวหั่นดอกเบี้ยอีก0.25%

  • ไทยพาณิชย์เชื่อมั่นก่อนสิ้นปีนี้กนง.หั่นดอกเบี้ยอีก0.25%
  • สงครามการค้าบานปลาย-งบกระตุ้นเศรษฐกิจไม่เพียงพอ
  • เงินบาทแข็งโป้กจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินมาเยียวยา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ หรืออีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีโอกาสลดดอกเบี้ย 0.25 % อีก 1 ครั้งในปีนี้ และปรับคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี สิ้นปีนี้ลงไปที่ 1.7-1.8 % จากเดิมที่ระดับ 1.9-2.0 % หลังจากเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมกนง.มีมติให้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25 % หรือจาก 1.75 % ต่อปี ลงมาเหลือ 1.50 % ต่อปี หลังจากการส่งออกที่หดตัว อุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโยน้มชะลอลงทุกภาคส่วน และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีมีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย
ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้กนง.ปรับลดดอกเบี้ยอีกรอบ มาจากความเสี่ยงและผลกระทบของสงครามการค้ามีเพิ่มสูงขึ้น หลังสหรัฐฯ ประกาศเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่ารวม 300,000ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ 10%ในเดือนก.ย.นี้ โดยจีนได้ออกมาตรการตอบโต้ด้วยการห้ามไม่ให้รัฐวิสาหกิจและสถาบันของรัฐนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ อีกทั้ง ล่าสุดกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ประกาศว่าจีนเป็นประเทศที่แทรกแซงค่าเงิน แม้จีนจะยังไม่เข้าทั้ง 3 เกณฑ์ ทำให้ภาวะความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุนยิ่งซบเซาลง โดยอีไอซีประเมินว่าความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคการส่งออก ท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชนมีสูงขึ้น นอกจากนี้ ความเสี่ยงของสงครามการค้าที่สูงขึ้นน่าจะทำให้ธนาคารกลางของทั้งกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้แรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาทยังมีอยู่ต่อไป


2.แรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐอาจไม่มากและเร็วพอที่จะชดเชยผลกระทบจากสงครามการค้า จากการรายงานของสื่อในประเทศ อีไอซีคาดว่ารัฐบาลน่าจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ด้วยงบประมาณที่จำกัด โดยอีไอซีประเมินว่าจะมีการใช้งบประมาณ 80,000 ล้านบาท บวกกับ การเบิกจ่ายที่อาจล่าช้ากว่าคาด แรงกระตุ้นจากภาครัฐอาจไม่เพียงพอที่จะชดเชยผลกระทบจากสงครามการค้าต่อภาคการส่งออก ท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชน และ3.ภาวะการเงินไทยอาจยังไม่ผ่อนคลายเพียงพอ อีไอซีมองว่า แม้จะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาวจะมีการปรับลดลงค่อนข้างมาก แต่ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง สะท้อนจาก ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ที่ปรับแข็งค่าขึ้นมาถึง 5.5% ในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกไทย อีกทั้งมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV measure) ที่ประกาศใช้ไปแล้วยังทำให้การขยายตัวของสินเชื่อชะลอลง การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมจึงอาจมีความจำเป็น


นอกจากนี้ไออีซียังปรับลดประมาณการอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี เนื่องจากความเสี่ยงสงครามการค้าปรับสูงขึ้นมากทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับลดลงมามากกว่าที่คาดไว้เดิม และการปรับลดประมาณการนี้ทำเพื่อสะท้อนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ในการประชุมรอบนี้ด้วย นอกจากนี้ แนวโน้มราคาน้ำมันโลกที่จะยังต่ำทำให้อัตราเงินเฟ้อทั้งในสหรัฐฯ และไทยไม่น่าจะปรับสูงขึ้นได้มาก


อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาแนวโน้มผลกระทบจากการขึ้นภาษีก้อนล่าสุดของสหรัฐฯ ที่จะส่งผลต่อราคาสินค้าผู้บริโภคมากขึ้น และปัญหาภัยแล้งในไทย ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นมาได้ และเป็นปัจจัยหนุนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล นอกจากนั้น อีไอซีปรับประมาณการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 1 ปี ณ สิ้นปี 2019 ลงเป็น 1.3-1.4% จากเดิม 1.65-1.75%