ไทยประกาศผลักดันให้ “เอเปก” ใช้ “บีซีจี โมเดล” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

  • หนุนรายเล็ก-ย่อมผลิตสินค้าและบริการเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม
  • ”จุรินทร์” ชี้ไทยประกาศเป็นวาระแห่งชาติแล้วตั้งแต่ปี 64
  • รมต.การค้าเตรียมออกแถลงการณ์ร่วมให้สมาชิกเดินหน้าจริงจัง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยในการเป็นประธานเปิดงานเสวนานานาชาติAPEC BCG Symposium 2022 ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีการค้ากลุ่มความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ว่า ในการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปกครั้งนี้ ไทย ในฐานะเจ้าภาพเอเปกในปีนี้ จะผลักดันให้สมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ใช้บีซีจี โมเดล หรือ BCG Model (เศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) และขนาดย่อม (เอ็มเอสเอ็มอี) ที่ต้องให้มีกระบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามแนวโน้มของโลก และสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน (เอสดีจี) ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งถ้ากระบวนการผลิตสินค้าและบริการไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาจทำให้สินค้าถูกแบน (ห้ามนำเข้า) หรือถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นได้ โดยการใช้บีซีจี โมเดล จะเป็นหนึ่งในประเด็นที่จะบรรจุอยู่ในแถลงการณ์ของรัฐมนตรีการค้า ที่จะมีการออกแถลงการณ์ร่วมกันวันที่22 พ.ค.นี้ เพื่อให้สมาชิกนำไปใช้พัฒนาเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ไทยประกาศบีซีจี โมเดล เป็นวาระแห่งชาติ และผ่านความเห็นจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.64 เพื่อเป็นโมเดลทางเศรษฐกิจ ที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืน (SDGs Goal) ของสหประชาชาติ โดยบีซีจี โมเดล ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ คือ 1. Bio Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งเป็นการนำความหลากหลายทางชีวภาพของเอเปก และไทยมาใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ

2.เศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของประเทศให้เกิดความคุ้มค่า เกิดของเสียที่ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด หรือ Reduce นอกจากนั้น นำของเหลือใช้หรือผลิตผลพลอยได้มาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจ หรือ Reuse และสุดท้าย Recycle นำของใช้แล้วกลับมาผลิตใช้ไหม่ เพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด และ3.Green Economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจทั้งภาคการผลิตและบริการ ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก และเพื่อให้ภาคการผลิตและภาคบริการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด

สำหรับไทย มาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอี และเอ็มเอสเอ็มอีให้ใช้บีซีจี โมเดลนั้น เป็นหน้าที่ของภาคการผลิตสินค้าและบริการ ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อจัดทำแนวทางในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าและบริการตามแนวทางของบีซีจี ส่วนกระทรวงพาณิชย์จะดูแลด้านการตลาดและการค้า

โดยการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบีซีจี โมเดล คือ ได้แยกหมวดสินค้าและบริการ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ ทั้งในกลุ่มสินค้าแห่งอนาคต อาหารฟังก์ชัน (อาหารที่มีคุณทางทางโภชนาสูง) อาหารทางการแพทย์ อาหารออร์แกนิก สินค้าไลฟ์สไตล์ สมุนไพร และสินค้าวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ซึ่งโดยการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบ 65 (ต.ค.64-มี.ค.65) มูลค่าการค้าในสินค้าเหล่านี้ เพิ่มขึ้นถึง 7 เท่าตัว เป็น 3,800 ล้านบาท จาก 500 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบ 64

“หากสมาชิกเอเปกร่วมกันขับเคลื่อนบีซีจี โมเดล ก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายต่างๆ ได้ เช่น สร้างและกระจายรายได้ให้กับเอสเอ็มอี และเอ็มเอสเอ็มอี เพราะมีการใช้ทรัพยากรและวัตถุดิบอย่างคุ้มค่า ขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ในที่สุด”