ไทยช่วยเมียนมาสู้โควิด ส่ง “ไฟเซอร์”ฉีดเด็กอายุ 5-11 ขวบ แสนโดส

  • พร้อมอุปกรณ์ฉีดวัคซีน
  • มูลค่ามากกว่า 50 ล้านบาท
  • ช่วยลดความเสี่ยงป่วยรุนแรงและเสียชีวิต

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยได้ส่งมอบวัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์ ฝา สีส้ม สำหรับเด็กอายุ 5-11 ขวบ จำนวน 100,000 โดส พร้อมอุปกรณ์ฉีดวัคซีน มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท ให้กับประเทศเมียนมา เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากความร่วมมืออย่างต่อเนื่องด้านการสาธารณสุขระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศสมาชิกประเทศอาเซียนเพื่อการรับมือกับการระบาดโควิด-19

โดยล่าสุดเมื่อครั้งที่รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุขเมียนมา เดินทางมาร่วมในพิธีเปิดสำนักงานเลขาธิการศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases : ACPHEED) เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2565 ณ กรุงเทพมหานครได้มี การหารือถึงความต้องการวัคซีนโควิด-19 เพื่อปกป้องสุขภาพเด็กวัยเรียนจาก โควิด-19 ซึ่งเด็กในวัยนี้มีโอกาสติดโควิดได้ง่าย แต่วัคซีนสามารถลดความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ โดยไทยมีวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีส้ม สำหรับฉีดเด็กอายุ 5-11 ขวบ เพียงพอและแบ่งปันให้ได้

สำหรับการส่งมอบวัคซีนครั้งนี้ ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และเป็นการทำงานร่วมกันของหลายฝ่ายอาทิ กระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขและบริษัทซิลลิค ฟาร์มา จำกัด โดยเป็นการบริจาควัคซีนผ่านสภากาชาดเมียนมา ดังเช่นครั้งที่ผ่านมา ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยบริจาควัคซีนโควิด-19 ให้กับประเทศเมียนมาแล้ว 2 ครั้ง เป็นวัคซีนแอสตราเซเนกา รวม 1 ล้านโดส

จีนล็อกดาวน์พื้นที่บางส่วนของ ซีอานซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลส่านซี ในภาคกลาง และสั่งประชาชนบางส่วนจากทั้งหมดราว 13 ล้านคน ให้อยู่แต่ในบ้านเป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ และศูนย์กลางขนาดใหญ่อื่นๆ กำลังออกมาตรการจำกัดต่างๆ เพื่อสนับสนุนนโยบายโควิด-19 เป็นศูนย์ (Covid Zero) ของรัฐบาลจีน

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าบัญชีวีแชตอย่างเป็นทางการของรัฐบาลซีอานได้โพสต์รายงานของสื่อท้องถิ่น เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 ต.ค. ว่า ซีอานมีพื้นที่ความเสี่ยงสูง 57 แห่ง และพื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง 74 แห่ง

ทั้งนี้ กฎเกณฑ์ล่าสุดของคณะกรรมการ สุขภาพแห่งชาติ (NHC) กำหนดว่า ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงสูงจำเป็นต้องอยู่กับบ้านจนกว่าจะไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่เป็นเวลา 7 วัน และพื้นที่นั้นจะถูกลดระดับเป็นพื้นที่เสี่ยงปานกลาง

สำหรับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงปานกลางจะถูกจำกัดความเคลื่อนไหวอยู่ภายในละแวกบ้านจนกว่าจะไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่เป็นเวลา 7 วัน โดยซีอานรายงานการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 37 ราย เมื่อวันพฤหัสบดี เพิ่มขึ้น จาก 34 ราย เมื่อวันพุธ

ส่วนพื้นที่อื่นๆ ของจีนนั้น บริษัทฟ็อกซ์คอน เทคโนโลยี กรุ๊ปได้กำหนดมาตรการควบคุมโควิดที่โรงงานประกอบโทรศัพท์ไอโฟนในเมืองเจิ้งโจว ขณะที่ประชาชนจำนวนมากขึ้นในเซี่ยงไฮ้ก็กำลังเผชิญกับข้อจำกัดต่างๆ ในการควบคุมโควิดด้วย

ด้านสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก ระบุว่าสถาบันฯ จำเป็นต้องทำลายทิ้งวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่พัฒนาขึ้นเอง หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ โควิชิลด์ จำนวน 100 ล้านโดส เนื่องจากวัคซีนเหล่านี้หมดอายุในเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ายอดาร์ พูนาวัลลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ ของสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย เผยเมื่อวันพฤหัสบดีว่า สถาบันฯ มีวัคซีนโควิชิลด์อยู่ในสต๊อกราว 100 ล้านโดส และวัคซีนเหล่านี้ซึ่งมีอายุ 9 เดือน หมดอายุในเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยสถาบันฯ ได้หยุดผลิตวัคซีนโควิชิลด์ ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีก่อน เนื่องจากประชาชนมีความต้องการฉีดวัคซีนโควิด ลดลง ทั้งยังระบุว่าสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดียจะหันไปผลิตวัคซีนโควิดของ แอสตราเซเนกา เพื่อนำมาใช้ในประเทศแทน ทั้งนี้ มีประชาชนอินเดียกว่าร้อยละ 90 ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิชิลด์

ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขอินเดียระบุว่า มีชาวอินเดียกว่า 2,000 ล้านคน ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด ในจำนวนนี้มีประชาชนกว่าร้อยละ 70 ที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 โดส ทางการอินเดียได้เริ่มฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข บุคลากรด่านหน้า และประชาชนอายุตั้งแต่ 60 ปี ที่มีโรคประจำตัว ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ก่อนที่จะเริ่มฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่มผู้ใหญ่ ขณะนี้อินเดียมียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมกว่า 44.6 ล้านคน และผู้เสียชีวิตกว่า 528,900 คน