ไทยขึ้นแท่นเบอร์ 3 ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางมากสุดในโลก

.ช่วง 11 เดือนปี 63 ส่งออกไปโลกกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญฯ
.ส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอเกือบ 5 พันล้านเหรียญฯ
.ถุงมือยาง จุกยาง ปลอกนิ้วยาง ถุงยาง ส่งออกมากสุด

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถิติการค้าของไทย พบว่า ผลิตภัณฑ์ยางของไทย  มีการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้อยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยในช่วงเดือนม.ค.-พ.ย.63 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง มูลค่า 10,938 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62 ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนและเยอรมนี

สำหรับผลิตภัณฑ์ยางที่ไทยส่งออกไปตลาดโลกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ถุงมือยาง มูลค่า 2,018 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 83% ตลาดส่งออกสำคัญ คือ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และจีน, ยางสังเคราะห์ 2,233 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 17% ตลาดส่งออกสำคัญ คือ จีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น และผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ทางเภสัชกรรม เช่น จุกยาง ปลอกนิ้วยาง ถุงยางคุมกำเนิด 205 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 2% ตลาดส่งออกสำคัญ คือ จีน สหรัฐอเมริกา และมาเลเซีย

ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทยไปประเทศที่ไทยมีความตกลการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ด้วย 17 ประเทศนั้น ในช่วง 11 เดือนปี 63  มีมูลค่า 4,889 ล้านเหรียญฯ หรือคิดเป็น 45% ของการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางทั้งหมด ขยายตัว 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62 เมื่อพิจารณารายประเทศ พบว่า จีน ไทยส่งออกสูงสุด 2,584 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 22%, ญี่ปุ่น 465 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 0.1%, ออสเตรเลีย 269 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 6% , เกาหลีใต้ 223 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 13% และเปรู 27 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 26%

“เอฟทีเอเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้การส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทยเติบโต เพราะ 14 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู และฮ่องกง ไม่เก็บภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางทุกรายการจากไทย ขณะที่อีก 4 ประเทศ คือ จีน เกาหลีใต้ อินเดีย ชิลี ได้ยกเว้นภาษีนำเข้าบางส่วนให้ไทยแล้ว เหลือเพียงบางรายการที่ยังคงเก็บภาษี เช่น จีน เก็บภาษียางสังเคราะห์ 5%, เกาหลีใต้ เก็บภาษียางสังเคราะห์ 5%, อินเดีย เก็บภาษียางนอกชนิดที่ใช้กับรถยนต์นั่ง และของที่ทำด้วยยาง เช่น rubber band 5% และชิลี เก็บภาษียางนอกชนิดที่ใช้กับรถยนต์นั่งและรถบัสอัตรา 1.32% เป็นต้น สำหรับถุงมือยางและผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในทางเภสัชกรรม ประเทศคู่เอฟทีเอ 18 ประเทศ ได้ยกเว้นภาษีนำเข้าทุกรายการของไทยแล้ว”

นางอรมน กล่าวต่อว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ยางในตลาดโลกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งไทยมีข้อได้เปรียบในฐานะประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติมากที่สุดของโลก ดังนั้น นอกจากการให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมการผลิตให้ได้มาตรฐานและคุณภาพ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางใหม่ๆ แล้ว ผู้ประกอบการควรเพิ่มโอกาสการส่งออกและขยายตลาดต่างประเทศ โดยใช้ข้อได้เปรียบจากเอฟทีเอ ที่ไทยมีกับประเทศต่างๆ ด้วย