“ไถ่บาป”ล้างภาพเอื้อนายทุนรัฐบาลใหม่เร่งเอาใจชาวบ้าน

ช่วงนี้หลายกระทรวงคึกคักขึ้นมาทันที หลังมีรัฐมนตรีใหม่เข้ามาทำงาน ถึงขนาดข้าราชการต้องเตรียมพร้อม 24 ชั่วโมง ตื่นตัวกันแบบแทบจะปรับตัวไม่ทัน หลังชินอยู่กับช่วงเลือกตั้งที่ทุกอย่างแทบจะนิ่งลากยาวมานานกว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่เป็นตัวเป็นตน

รัฐมนตรีหลายคนที่ได้โอกาสทำงานเป็นครั้งแรกดูจะกระตือรือร้นโหมทำงานราวกับว่า พรุ่งนี้จะมีการปรับครม.หรือไม่ก็จะเกิดเลือกตั้งครั้งใหม่ในเร็ววันนี้จึงต้องเร่งสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์

อย่างไรก็ตามการทำงานของครม.ชุดปัจจุบัน แม้จะมีรัฐมนตรีตกทอดมาจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมาอยู่บ้าง แต่รูปแบบการทำงานก็ผิดไปจากชุดที่ผ่านมาซึ่งอยู่ภายใต้เงาของรัฐประหารที่ว่าแตกต่างแบบเห็นชัดที่สุดคือ การรับฟังและใส่ใจปัญหาในระดับรากหญ้ามากขึ้น ซึ่งรัฐบาลชุดที่ผ่านมาจะเน้นการวางรากฐานของประเทศ โดยเฉพาะการทำโครงสร้างพื้นฐานไว้รองรับอนาคต ประเภท “เล็กๆไม่ ใหญ่ๆทำ” จนถูกหยิบยกมาพูดโจมตีหลายเวที ไม่เว้นแม้แต่ช่วงที่แถลงนโยบายว่ารัฐบาลเอาใจนายทุน ไม่สนใจคนระดับฐานราก

รัฐบาลชุดที่ผ่านมาครม.ประยุทธ์สมัยที่ 1 ให้เหตุผลว่าที่ต้องเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่มานาน และที่สำคัญถ้าอยู่ในช่วงรัฐบาลปกติจะไม่สามารถผลักดันโครงการขนาดใหญ่ให้เกิดได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นเราจึงได้เห็นหลายโครงการมีเครื่องมือสุดวิเศษคือ มาตรา 44มาช่วยขับดัน แก้ปัญหาข้อติดขัดแบบรวดเร็วทันใจ 

การมีรัฐบาลที่พร้อมเปิดไฟเขียวกรุยทางให้ตลอดเวลา ได้สร้างความสบายใจให้กับนายทุนที่รัฐบาลหวังให้มาช่วยขับเคลื่อนเป็นผลงานฝากไว้ให้จดจำในภาพของ “การลงทุนเพื่อรองรับอนาคต” แต่อีกด้านภาพของการเอาใจใส่ประชาชนก็ลางเลือนจางลงไปทุกขณะ ถึงขนาดที่ก่อนเลือกตั้งต้องงัดไม้ “แจก”มาใช้ดึงคะแนนความนิยม

พร้อมๆกับพูดพร่ำพรรณนาเรื่องการแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ แต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีชาวบ้านได้ยิน เพราะชีวิตจริงที่สัมผัสมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น สะท้อนออกมาจากผลการเลือกตั้งที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าไม่ได้เข้าไปนั่งในใจชาวบ้านอย่างที่คาดหวัง

ปิดฉาก…รูดม่านลงไปเรียบร้อยแล้วกับอำนาจพิเศษ ต่อไปนี้คือของจริงล้วนๆ สิ่งเดียวที่จะค้ำบัลลังก์รัฐบาลประยุทธ์สมัยที่ 2 อยู่ต่อไปได้อย่างมั่นคงคือความนิยมของประชาชน ไม่ใช่ส.ส.หรือส.ว.

รัฐบาลชุดนี้น่าจะทราบข้อนี้ดีจึงพยายามเร่งทำงานให้ออกมาเป็นรูปธรรม และส่วนใหญ่หยิบยกประเด็นที่เป็นปัญหาความเดือดร้อนของผู้คนในสังคมที่สัมผัสอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มาชูเป็นนโยบายที่จะเร่งขับเคลื่อน เช่น ปัญหาภัยแล้ง ปัญหารถติด การช่วยเหลือดูแลเกษตรกรในรูปแบบต่างๆเป็นต้น ราวกับว่าจะมา“ไถ่บาป”กับข้อหาเอื้อนายทุนกันในคราวนี้

อย่าลืมว่าโลกเปลี่ยนไปมากแล้วในปัจจุบัน การใช้วิธีการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆที่เคยทำมาคงไม่ได้ผล (ซึ่งจริงๆที่ผ่านๆมามันก็ไม่ได้ผลอยู่แล้วก็ยังจะหยิบมาใช้กันอยู่) เช่น การเพิ่มเงินช่วยเหลือเกษตรกร เหมือนคนเป็นเนื้องอกลุกลามแต่ให้กินยาแก้ปวด ไม่ได้สร้างความยั่งยืน มีแต่ความสูญเปล่า ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ สุดท้ายก็วนอยู่ในวงจรเดิมๆ

ลองวิธีการใหม่ๆดูบ้าง หรือที่มีบางกลุ่มกำลังทำอยู่แล้วได้ผลดีแต่ยังไม่แพร่หลายก็ขยายผลให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น การทำตลาดออนไลน์ให้เกษตรกรหรือกลุ่มสหกรณ์ ขายสินค้าโดยตรงถึงผู้บริโภค

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” ได้หารือร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(ดีป้า) เพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรให้เข้าถึงช่องทางการขายสินค้าผ่านออนไลน์มากยิ่งขึ้น

ต้องยอมรับว่าเกษตรกรในต่างจังหวัด หลายพื้นที่ยังเข้าไม่ถึงช่องทางการค้าขายออนไลน์ดังนั้นดีอีและดีป้าจะต้องหาวิธีการที่จะทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้าถึงให้มากที่สุดซึ่งไม่สามารถดำเนินการโดยลำพังต้องมีการสร้างเครือข่ายการนำบุคคลที่มีความรู้ไปชี้แนะไปอบรมต่อยอดเพื่อให้สินค้าเกษตรนั้นๆขายได้และต่อยอดพัฒนาไปยังผลิตภัณฑ์อื่นๆได้ด้วย” นี่คือคำกล่าวของรมว.ดีอี

นับว่ามองเห็นปัญหาและตีโจทย์แตก เพราะปัญหาใหญ่ที่สุดของเกษตรกรไทยคือเรื่องตลาด ช่วงนี้ชาวสวนมังคุดขายมังคุดให้พ่อค้าราคาหน้าสวนอยู่ที่ก.ก.ละ 4-8 บาท ถึงมือผู้บริโภคซื้อในราคาก.ก.ละ 35 บาท หรือ 3 โล100 ถ้ามีตลาดออนไลน์มารองรับ ย่อมมีรายได้ที่ดีกว่าอย่างแน่นอน

ปัจจุบันทางไปรษณีย์ไทยก็ช่วยดำเนินการเรื่องทำตลาดออนไลน์ให้เกษตรกรอยู่บ้าง แต่ยังไม่ได้ขยายผลอย่างกว้างขวาง และควรแสดงโครงสร้างราคาออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนเลยว่า ชาวสวนได้ก.ก.ละเท่าไหร่ ไปรษณีย์ได้ค่าบริหารจัดการ ค่าขนส่งเท่าไหร่  ถ้าผลประโยชน์ตกถึงมือเกษตรกรอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ผู้บริโภคก็พร้อมจะสนับสนุน ที่สำคัญหากมีราคาสูงกว่าในท้องตลาดก็ต้องแสดงให้เห็นความแตกต่างของคุณภาพ พร้อมบอกเล่าเรื่องราวอย่างชัดเจน 

รีบทำเถอะครับ ช้าไปมากกว่านี้จะยิ่งลำบาก เพราะคนจีนมากินรวบตั้งล้งรับซื้อเต็มไปหมด ช่วงแรกๆชาวสวนได้ราคาดี เพราะเป็นช่วงที่ต้องซื้อแข่งกับพ่อค้าคนไทย พอพ่อค้าคนไทยล้มหายตายจากไปจากทุนใหญ่กว่าที่เข้ามาถล่ม ต่อไปอาจจะถูกกดราคาลงไปอย่างน่าใจหาย

ถ้าไม่มีตลาดในประเทศมารองรับแบบแข็งแรงไว้ล่วงหน้า “ผูกปิ่นโต” กันไว้ก่อน “สึนามิ”ลูกใหญ่อาจจะพัดถล่มภาคเกษตรของไทยได้ในไม่ช้า

คนชายขอบ