ไตรมาสสุดท้าย ไทยเที่ยวไทยคาดใช้จ่าย ติดลบ 5.5% ศูนย์วิจัยกสิกรระบุจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจ-โควิดและการเมือง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยทำการสำรวจในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2563 หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างเร่งทำตลาดกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของตลาดไทยเที่ยวไทย พบว่าในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้กลุ่มตัวอย่างมีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 77.3% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผลสำรวจในช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่การท่องเที่ยวยังมีความไม่แน่นอนสูงเมื่อกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มองว่าหากมีการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศจะมีผลต่อการปรับแผนการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปีนี้ รวมถึงยังมีประเด็นการเมืองที่ต้องติดตาม

ขณะที่ในส่วนของการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังมีความกังวลในเรื่องภาวะเศรษฐกิจส่งผลทำให้จำนวนความถี่ในการเดินทางท่องเที่ยวเฉลี่ยลดลง รวมถึงแผนการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อทริปปรับลดลงประมาณ 5.5% เมื่อเทียบกับผลสำรวจในช่วงเดียวกันของปีก่อน 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภายใต้กรณีที่ไม่มีการระบาดของโควิด-19 ในประเทศอีกครั้ง กอปรกับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว และการชุมนุมทางการเมืองที่อยู่ในขอบเขตจำกัด จะช่วยทำให้การใช้จ่ายของคนไทยเที่ยวในประเทศในช่วง 3 เดือนสุดท้ายนี้  น่าจะมีมูลค่าประมาณ 1.8 แสนล้านบาท หดตัวประมาณ 37.1% (YoY) ดีขึ้นจากที่หดตัวแรงในช่วงก่อนหน้า และทั้งปี 2563 นี้ ผลจากโควิด-19 ทำให้การใช้จ่ายของคนไทยเที่ยวในประเทศน่าจะมีมูลค่า 5.06 แสนล้านบาท หดตัว 53.3% จากปี 2562 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวควรใช้โอกาสจากการที่ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวทำการตลาดควบคู่ไปอย่างการจัดแพคเกจท่องเที่ยวพิเศษ และผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวคงจะต้องมีการอัพเดทข้อมูลข่าวสารในพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจแก่นักท่องเที่ยวไทยที่จะเดินทางเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่องเช่นกัน 

หลังจากที่ทางการสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในประเทศได้ และภาครัฐเองได้ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศอย่าง “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” ทำให้คนไทยมีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น เห็นได้จากข้อมูลของ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศในเดือนก.ค.-ก.ย. 63 มีจำนวนประมาณ 24.3 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นจากในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย. 63 ที่มีจำนวนพียง 3.9 ล้านคน-ครั้ง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับผลสำรวจของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย. 63 กลุ่มตัวอย่างกว่า 60.0% มีการเดินทางท่องเที่ยวทั้งแบบค้างคืนและแบบไปเช้า-เย็นกลับ ขณะที่ยังไม่ได้เดินทางท่องเที่ยวมีสัดส่วน 40.0% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด

ทั้งนี้เพื่อความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้  รัฐบาลได้ทยอยออกมาตรการกระตุ้นให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้นอาทิการเพิ่มวันหยุดยาวพิเศษในวันที่ 19-20 .. 2563 และการเปลี่ยนแปลงวันหยุดชดเชยจากวันที่ 7 .. เป็นวันที่ 11 .. 2563 เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่นิยมเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดมากกว่าวันธรรมดารวมถึงการต่ออายุและปรับเงื่อนไขโครงการเราเที่ยวด้วยกันและมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายเป็นต้น  อย่างไรก็ดี บรรยากาศการท่องเที่ยวในปีนี้ก็อาจจะแตกต่างจากปีที่ผ่านมา นอกจากสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อต่อนักท่องเที่ยวบางกลุ่มแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น สถานการณ์โควิด และการเมือง