ได้ฤกษ์!ทางหลวง-ทางหลวงชนบทเริ่มใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบคอนกรีต-หลักนำทางยางธรรมชาติถนนทั่วไทยมั่นใจลดอุบัติเหตุ

.กรมทางหลวงลุยเฟสแรก 200 กม.ประเดิมอัดงบกว่า 3 ล้าน นำร่องเส้นทางเชื่อมเขาคิชฌกูฏ 400 ม.

.ฟาก ทช. แปลงงบ-งบเหลือเบิกจ่ายปี 63 ผลิตแท่งคอนกรีต 100 กม. จ่อของบปี 64 ซื้อแผ่นยางหุ้ม

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ทล.ได้นำร่องนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน โดยการใช้ “แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต” (Rubber Fender Barrier : RFB) มาติดตั้งบนถนน ทางหลวงหมายเลข 3249 ตอนเขาไร่ยา-แพร่งขาหยั่ง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี หรือถนนบำราศนราดูร จันทบุรี-เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ช่วงก่อนถึงโค้งวัดชำโสม ขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ เป็นเกาะสี ระยะทาง 400 เมตร วงเงินประมาณ 2-3 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัย และเพิ่มการผลิตให้กับชาวสวนยางด้วย

สำหรับเส้นทางถนน ทางหลวงหมายเลข 3249 ที่ ทล.นำร่องใช้ RFB ดังกล่าวนั้น มีความพร้อมมากที่สุด เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากสหกรณ์ชาวสวนยาง จงหวัดจันทบุรี และถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยเส้นทางดังกล่าวนั้น มีประชาชนสัญจรเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นเส้นทางเชื่อมการท่องเที่ยวไปยังเขาคิชฌกูฏ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ซึ่งในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางจำนวนมาก ประกอบกับเป็นทางโค้ง และมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ส่งผลให้รถวิ่งข้ามเลน นำไปสู่ความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน

อย่างไรก็ตาม ตามแผนงานของ ทล. ในปี 2563 ระยะแรกนั้น มีแผนที่จะใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต บริเวณถนนที่ทีเกาะสี และเกาะร่อง ระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร (กม.) จากถนนที่มีอยู่ในแผน 3 ปี (2563-2565) รวมระยะทาง 1,029 กิโลเมตร (กม.) อย่างไรก็ตาม หลังจากการนำร่องที่จังหวัดจันทบุรี จะขยายดำเนินการไปที่จังหวัดสตูล และจังหวัดบึงกาฬต่อไป เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งผลิตยางพาราที่สำคัญ ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินการของ ทล. นั้น ภายหลังจากการได้รับการจัดสรรงบประมาณ จะไปซื้อผลิตภัณฑ์ยางพาราตรงกับชุมนุมสหกรณ์ โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

นอกจากนั้นในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่จังหวัดระยองในวันที่ 25 ส.ค.นั้น ที่ประชุม ครม. ยังได้มีมติอนุมัติงบกลางประจำปี 2563-2564 วงเงิน 2,700 ล้านบาท เพื่อในการผลิต RFB และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) พร้อมนำมาใช้บนถนนของ ทล. วงเงิน 1,700 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) วงเงิน 1,000 ล้านบาท

ขณะที่ ทล. ระบุว่า ตามแผนงานในปี 2563 ทล. มีความต้องการใช้เสาหลักนำทาง จำนวน 89,000-90,000 ต้น ซึ่งต้องผลิตให้แล้วเสร็จภายใน ก.ย. 2563 ขณะที่แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีตจะดำเนินการบนถนน 19 สายทาง 26 ช่วง ใน 13 จังหวัด เบื้องต้นจะดำเนินการบนถนนที่เป็นเกาะสี และถนนที่มีเกาะเป็นร่องกลาง เน้นเลือกเส้นทางที่มีสถิติอุบัติเหตุสูง รวมถึงดำเนินการเกาะกลางถนนที่เป็นเกาะยก ที่มีสภาพความไม่ปลอดภัย เพื่อป้องกันอันตรายรถเสียหลัก

ด้านนายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ในส่วนแผนการดำเนินการในปีนี้ (2563) ของ ทช. นั้น จะนำงบประมาณจากการเปลี่ยนแปลงงบประมาณในส่วนของการจัดซื้อแอสฟัลต์ซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ (Natural Rubber Modified Asphalt Cement) หรือ พาราเอซี ให้เหลือแค่แอสฟัลต์คอนกรีต (Asphalt Concrete) หรือ เอซี วงเงินประมาณ 300 ล้านบาท และงบเหลือจากการเบิกจ่ายมาผลิตแท่งคอนกรีตก่อน ใช้บนถนนที่มีเกาะสี ระยะทางประมาณ 100 กม. ใน 15 จังหวัด 16 เส้นทาง

จากนั้นในปี 2564 จะจัดสรรงบฯ เพื่อซื้อแผ่นยางหุ้มครอบคอนกรีตอีกครั้ง ในส่วนของเสาหลักนำทางยางพารานั้น ในปีนี้ จะดำเนินการจำนวน 200,000 ต้น ขณะที่ งบกลางฯ ตามที่ ครม.มีมติอนุมัตินั้น จะต้องไปประสานกับสำนักงบประมาณอีกครั้งว่าจะนำมาดำเนินการอย่างไรต่อไป อย่างไรก็ตาม ทช.จะใช้หลักด้านความปลอดภัยมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณารวมถึงเส้นทางที่มีปริมาณรถเยอะ

นายปฐม กล่าวต่ออีกว่า นโยบายของรัฐบาลที่มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของพี่น้องประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการนำยางพารามาใช้เป็นอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยทางถนน รวมทั้งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราให้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสร้างเสถียรภาพราคายางพาราอย่างยั่งยืน ทช.จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้มีการศึกษาและวิจัยพบว่ามี 2 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ที่มีความเหมาะสม กับการใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมจำนวนมาก สามารถลดความรุนแรงของการชนปะทะได้

สำหรับแผนการดำเนินโครงการดังกล่าว ระยะ 3 ปี (ปีงบประมาณ 2563-2565) โดยมีปริมาณการใช้ยางพารา จำนวน 1,007,951 ตัน คิดเป็นผลประโยชน์ที่เกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับ จำนวน 30,108 ล้านบาท และจะมีการสำรวจตรวจสอบเพื่อเปลี่ยนแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ ทดแทนที่เสื่อมสภาพหรือมีความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งต้องใช้ยางพาราในทุกๆปี ปีละไม่น้อยกว่า 336,000 ตัน ซึ่งเป็นการสร้างเสถียรภาพราคายางพารา ได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน

ขณะเดียวกัน ตามกรอบแผนงานที่ดำเนินการระยะเวลา 3 ปี (‪2563-2565‬) แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ จะนำมาใช้ถนนของ ทล. และ ทช. กว่า 12,000 กม. วงเงินประมาณ 85,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ถนนของ ทล.11,000 กว่ากม. และถนน ทช. 1,000 กว่า กม. และหลักนำทางยางธรรมชาติ 1,063,651 ต้น