ไข่ไก่ขยับขึ้นราคาฟองละ 20 สตางค์มีผลวันนี้

  • ไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ฟองละ 3.20 บาท
  • ผู้เลี้ยงชี้ปรับขึ้นตามต้นทุนที่สูงขึ้นต่อเนื่อง
  • พาณิชย์ตรวจสถานการณ์สินค้าไม่พบของขาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด, สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่ – ลำพูน จำกัด สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ลุ่มแม่น้ำน้อย จำกัด และสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด ได้ประกาศปรับขึ้นราคาแนะนำไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม เป็นฟองละ 3.20 บาท ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.65 เป็นต้นไป

สำหรับราคาที่ปรับขึ้นนี้ เป็นการปรับขึ้นฟองละ 20 สตางค์ จากเดิมฟองละ 3.00 บาท หรือปรับขึ้นแผง (30 ฟอง) ละ 6 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณผลผลิต และต้นทุนการเลี้ยงไก่ไข่ที่สูงขึ้น หลังจากช่วงที่ผ่านมา เกษตรกรได้ปลดแม่ไก่จำนวนมาก เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ ส่งผลให้ราคาขายปลีกแนะนำ ไข่ไก่ เป็นดังนี้ เบอร์ 0 ฟองละ 4.60 บาท, เบอร์ 1 ฟองละ 4.30 บาท, เบอร์ 2 ฟองละ 4.00 บาท, เบอร์ 3 ฟองละ 3.80 บาท, เบอร์ 4 ฟองละ 3.60 บาท และเบอร์ 5 ราคา 3.40 บาท

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าทั่วประเทศ ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ โดยในช่วง 7 วันที่ผ่านมา สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพในตลาดสด ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกค้าส่ง รวมกว่า 2,000 แห่ง พบว่าปริมาณสินค้า มีเพียงพอ และไม่พบผู้ค้าฉวยโอกาสขึ้นราคาจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้พาณิชย์จังหวัด บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 โดยร้านค้าต้องปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายให้ชัดเจน ห้ามฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา หรือจำหน่ายสินค้าราคาสูงเกินสมควรโดยเด็ดขาด หากพบการกระทำผิด ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด และให้ดำเนินการตามพ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัด ที่ต้องกำกับดูแลเครื่องชั่ง การบรรจุหีบห่อ โดยเฉพาะตรวจสอบการบรรจุก๊าซหุงต้ม ที่ต้องได้ปริมาณเต็มจำนวน และหัวจ่ายปั๊มน้ำมัน ที่ต้องเติมแล้วได้เต็มลิตร

สำหรับมาตรการดูแลราคาสินค้า กระทรวงพาณิชย์ได้ยึดนโยบาย “วิน-วิน โมเดล” ตามที่นายจุรินทร์ได้กำหนดไว้ โดยหากจะอนุญาตให้ผู้ประกอบการปรับขึ้นราคาขายจากต้นทุนที่สูงขึ้น จะต้องพิจารณาลงลึกในรายละเอียดของต้นทุนทั้งหมด และผู้เกี่ยวข้องทั้ง 3 ฝ่าย คือ เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้บริโภค จะต้องแบ่งเบาภาระซึ่งกันและกัน คือ ผู้ผลิตรับส่วนหนึ่ง ผู้บริโภครับส่วนหนึ่ง ไม่ให้ส่วนใดส่วนหนึ่งรับภาระฝ่ายเดียว เพราะหากตรึงราคาอย่างเดียว อาจจะมีปัญหาอื่นตามมา เช่น สินค้าขาดแคลน จากการที่ผู้ผลิตไม่ยอมผลิต เพราะขาดทุน แต่หากผู้ผลิตยังรับภาระได้ ก็จะขอความร่วมมือให้ตรึงราคาไปก่อน ถ้าขาดทุน หรือรับภาระไม่ไหวแล้ว จึงจะพิจารณาตามจริง