ให้ ครม.มีมติ-คำสั่งถึง ปตท. “เฉือน” กำไรโรงกลั่นต้องแจ้งผู้ถือหุ้นก่อน

  • เสนอทางเลือกบรรเทาผลกระทบ
  • ประชุมผู้ถือหุ้น “ปันผล” ทุกราย
  • ระบุอาจต้องใช้เงินถึง 3 แสนล้าน

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทในเครือปตท.หารือร่วมกันกรณีนายสุพัฒน์พงศ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.กระทรวงพลังงาน ขอให้มีการนำส่งกำไรจากค่าการกลั่นไปยังรัฐบาลเพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาขายปลีกน้ำมัน

ที่สูงเป็นประวัติการณ์ ด้วยการชี้แนะให้คณะรัฐมนตีมีมติขอความช่วยเหลือไปยังบริษัท รวมทั้งโรงกลั่นในเครือปตท.จำกัด(มหาชน) เพื่อไม่ให้ผิดกฏกติกาของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ตามพรบ.ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้บริหารระดับสูงของปตท.และบริษัทในเครือได้เตรียมการรับมือกับผลกระทบราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับโดยคาดว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอาจสูงถึง 150 เหรียญต่อบาร์เรลในระยะเวลาไม่นานนี้ และอาจใช้เวลาไม่ถึง 6 เดือนตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ด้วย

ขณะเดียวกันก็คาดการณ์กันว่า รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง อาจจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจให้แก่ประชาชนกลุ่มต่างๆสูงถึง 200,000 – 300,000 ล้านบาท หลังจากที่ใช้ไปมากกว่า 100,000 ล้านบาทแล้วจากกองทุนน้ำมัน 

“เราคิดกันว่า ทางเดียวที่จะบรรเทาผลกระทบของราคาน้ำมันที่สูงมากที่สุดเท่าที่เคยปรากฏมาก็คือ ขอหารือกับบรรดาผู้ถือหุ้นจากกิจการในเครือทั้งหมดถ้าคณะรัฐมนตรีมีมติ หรือมีคำสั่งมา ก็จะขอให้ผู้ถือหุ้นร่วมกันหาทางออกด้วยการมีมติให้บริษัทจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นทุกรายในสัดส่วนที่สูงกว่าปีก่อนๆ นั่นน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ปัญหาคือ เงินจะวิ่งเข้าไปที่กระทรวงการคลัง และกองทุนวายุภักษ์ ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะต้องไปขอเขาอีกที”

อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัท และโรงกลั่นในเครือ ปตท.จะสามารถปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้มากน้อยเพียงไร ต้องลงไปดูในรายละเอียด เนื่องจากไม่ใช่ทุกบริษัทที่มีโรงกลั่นจะได้กำไร และกำไรจากค่าการกลั่นก็ไม่ได้มากอย่างที่อ้างถึงเนื่องจากโรงกลั่นเพิ่งจะมีกำไรจริงๆในเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังจากที่เกิดสงครามสู้รบกันระหว่างรัสเซียกับยูเครน

“กำไรที่เกิดขึ้นมีค่าความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมันดิบ และอัตราแลกเปลี่ยนเงิน รวมทั้งค่าขนส่ง ค่าประกัน และอื่นๆ เช่น ชนิดของน้ำมันที่มีซัลเฟอร์ต่ำซึ่งประเทศไทยใช้ แต่ประเทศอื่นมีไม่เหมือนกัน อีกเหตุผลคือ เมื่อมีผู้ขายในตลาดจำนวนมาก เมื่อใดที่มีผู้เสนอขายในราคาต่ำกว่า เราก็ต้องซื้อไว้ ดังนั้น ประเทศไทยจึงซื้อน้ำมันดิบจากหลายแหล่ง หรือราว 10 แหล่งด้วยกัน”

ในกรณีที่ราคาน้ำมัมดิบในต่างประเทศยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง อาจมีทางเลือกอื่นๆให้ปตท.และ กิจการในเครือต้องทำเช่น อาจต้องออกกองทุน หรือหุ้นกู้เพื่อขอยืมเงินจากประชาชนมาใช้ในการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเหตุผลความจำเป็นในช่วงเวลานั้นๆ

  • ตีแตกข้อเสนอ“กรณ์”หน.พรรคกล้า
  • พาประเทศไทยสู่สภาวะ “ศรีลังกา”

ส่วนทางเลือกที่จะให้ปตท.ไปเจรจากับผู้ค้าน้ำมันรัสเซียเพื่อให้ได้ส่วนลดราคาน้ำมันดิบในอัตรา 10 – 30 เหรียญต่อบาร์เรลนั้น ยังต้องพิจารณาทางเลือกอื่นก่อน และจำเป็นต้องหารือกับผู้เชี่ยวชาญทางการทูตด้วยว่า เหมาะสมหรือไม่เพียงไร แต่หากจะทำเพื่อให้ได้ราคาขายปลีกน้ำมันหน้าปั้มที่ถูกกว่า หรือต่ำลง ส่ิงนี้คงไม่ใช่คำตอบ

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีต รมว. คลัง ของพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ (หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) ออกพระราชกำหนดให้ ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเป็นสินค้าที่ต้องควบคุมราคาว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่

ได้รับคำตอบว่า ถ้ารัฐบาลทำเช่นนั้น จะเท่ากับปิดประเทศ บริษัทน้ำมันต่างชาติจะออกจากประเทศไป ส่วนบริษัทน้ำมัน และโรงกลั่นในประเทศ ก็คงไม่ซื้อน้ำมันดิบเข้ามากลั่นอีก ท้ายที่สุด ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศศรีลังกาที่ไม่มีน้ำมันเชื้อเพลิงใช้ในประเทศ ระบบการขนส่งทั้งประเทศต้องหยุดชะงัก และเฝ้าร้องขอให้รัสเซียจ่ายน้ำมันดิบให้ในระบบสินเชื่อ 

“ไม่น่าเชื่อว่า คุณกรณ์ ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ จะแนะนำรัฐบาล กับ กระทรวงพาณิชย์เช่นนี้”