โรคปาก-เท้าเปื่อยในโคเริ่มระบาด วอนเกษตรกรอย่าตื่นตระหนก

  • กรมปศุสัตว์เสริมบุคลาการทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ พร้อมระดมฉีดวัคซีน
  • พบระบาดในอำเภอมวกเหล็ก สระบุรี ย้ำเป็นโรคที่รักษาได้
  • วอนเกษตรกรอย่าพากันขายสัตว์ป่วยทิ้ง ยิ่งทำให้การระบาดขยายวงกว้างขึ้น

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยในโคนมในอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ทำให้มีโคล้มด้วยนั้น พรุ่งนี้นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ จะเปิดศูนย์ปฏิบัติควบคุมโรคในพื้นที่ ระดมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ เวชภัณฑ์ และอาหารเร่งช่วยเหลือเกษตรกร เบื้องต้นส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ แนะนำให้เข้มงวดการเข้าออกฟาร์ม ทั้งคนและยานพาหนะตอ้งผ่านการฆ่าเชื้อทุกครั้ง และนำวัวมารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคได้ฟรี

สาเหตุการระบาดของโรคปากเท้าเปื่อยในโคนมช่วงนี้เกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลให้หญ้าขาดแคลน โคจึงกินอาหารไม่เพียงพอ สุขภาพอ่อนแอ และติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะการกินฝุ่นข้าวโพดที่มากจนเกินไปส่งผลต่อการย่อยของวัว ทั้งนี้อำเภอมวกเหล็กมีพื้นที่กว้าง และลี้ยงโคนมหนาแน่น มีเกษตรกร 2,390 ราย โคนม 99,897 ตัว เมื่อโคป่วยยังคงมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ ซากสัตว์ เช่น มูลสัตว์ น้ำนม อาหารสัตว์ ตลอดเวลาทำให้การควบคุมโรคเป็นไปได้ลำบาก อีกทั้งเมื่อเกษตรกรพบโคมีอาการผิดปกติไม่แจ้งโรคต่อปศุสัตว์อำเภอ/จังหวัด หรือแจ้งโรคช้า 

นายสัตวแพทย์สมชวน กล่าวว่า โรคปากและเท้าเปื่อยเกิดจากเชื้อไวรัส ไม่มียาฆ่าเชื้อ แต่เป็นโรคที่รักษาได้ หากเป็นในสัตว์กีบคู่ที่โตแล้ว ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดให้อาหารเพียงพอเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรค โคที่เป็นโรคนี้แล้วล้ม มักเป็นโควัยอ่อนหรือมีโรคอื่นแทรกซ้อน จึงย้ำเตือนว่า หากโคมีอาการน้ำลายยืดให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อเข้าดูแลอาการ รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อย วัวทั่วไปปีละ 2 ครั้ง ส่วนโคนมปีละ 3 ครั้ง โดยทางปศุสัตว์มีการฉีดวัคซีนให้ฟรี งดการนำสัตว์เข้ามาเลี้ยงใหม่จากโคที่ไม่ทราบแหล่งที่มา หรือจากพื้นที่ที่มีโรคระบาด หลีกเลี่ยง ให้บุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าฟาร์ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอกเลี้ยงโคและโรงรีดนม เลือกซื้ออาหารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ว่าไม่มีโรคปากและเท้าเปื่อยระบาด ที่สำคัญทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรคที่โรงเรือน ถังนมและอุปกรณ์ต่างๆ

ทั้งนี้ตั้งแต่เดือน พ.ย.2562 จนถึงปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนให้วัวไปแล้ว 91,842 ตัว สำหรับอาการโรคปากเท้าเปื่อย สัตว์จะมีอาการซึม ไข้สูง น้ำลายไหล มีเม็ดตุ่มใส พุพอง เกิดขึ้นภายในปาก ลิ้น เหงือก เพดานปาก ข้างแก้ม ซอกกีบต่อมาเม็ดตุ่มจะแตกเป็นแผล สัตว์แสดงอาการขาเจ็บ เดินกะเผลก น้ำลายไหลมากขึ้น มีแผลในปาก ลิ้น เท้า และหัวนม สำหรับสถานการณ์โรคในจังหวัดสระบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศกำหนดเขตเฝ้าระวังโรคระบาดชนิดโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบคู่ได้แก่ โค กระบือ แพะ แกะ สุกร หมูป่า และกวางตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2562 ปศุสัตว์อำเภอมวกเหล็ก ได้ประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราว ชนิดโรคปากและเท้าเปื่อยในพื้นที่หมู่ 2 บ้านคลองม่วงใต้ ตำบลลำพญากลาง อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2563 จนถึง 9 กุมภาพันธ์ 2663 เบื้องต้น มีเกษตรกรแจ้งมาแล้ว 108 ราย มี โคนมร่วมฝูง 5,654 ตัว ที่ป่วย / และรักษาให้หาย โดยเหลือ 897 ตัวที่อยู่ระหว่างการรักษา ซึ่งตั้งแต่วันพรุ่งนี้จะมีรองอธิบดีกรมปศุสัตว์ไปเป็นผู้บัญชาการศูนย์ควบคุมโรคด้วยตนเอง รายงานผลปฏิบัติมายังส่วนกลางทุกวัน 

“วอนเกษตรกรเมื่อพบว่าโคป่วยให้แจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ อย่าขายโคออก เนื่องจากเป็นโรคที่รักษาได้ การเคลื่อนย้ายโคออกจากฟาร์ม ขณะที่ยังป่วยอยู่ จะทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายออกไปยังพื้นที่อื่นเป็นวงกว้างขึ้น” นายสัตวแพทย์สมชวน กล่าว