โพลม.หอการค้าไทยชี้เดือนมี.ค.66 คนไทยมีความสุข

  • หลังโควิด-19 คลี่คลาย เศรษฐกิจประเทศเริ่มฟื้นตัว
  • แต่ยังกังวลค่าครองชีพสูง รายได้ไม่พอใช้จ่าย
  • ส่วนดัชนีเชื่อมั่นเพิ่มทุกรายการ สูงสุดรอบ 37 เดือน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในการสำรวจความคิดเห็นด้านสังคม จากประชาชน 2,241 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่า เดือนมี.ค.66 ดัชนีทุกรายการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และสูงสุดในรอบ 38-40 เดือน โดยดัชนีวัดความสุขในการดำรงชีวิตปัจจุบัน อยู่ที่ 56.8 สูงสุดรอบ 40 เดือนนับตั้งแต่เดือนธ.ค.62 เพิ่มจาก 53.4 ในเดือนก.พ. 66 ส่วนในอนาคต หรือใน 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีอยู่ที่ 59.8 สูงสุดรอบ 38 เดือนนับจากเดือนก.พ.62 เพราะโควิดดีขึ้น และเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว การท่องเที่ยวเริ่มกลับมา แม้ราคาน้ำมันและค่าครองชีพยังทรงตัวสูง

ขณะที่ดัชนีภาวะค่าครองชีพในปัจจุบัน อยู่ที่ 34.5 สูงสุดรอบ 39 เดือนนับจากเดือนม.ค.63 เพราะประชาชนยังรู้สึกว่ามีปัญหาค่าครองชีพสูง และการเพิ่มขึ้นของรายได้ยังไม่เหมาะสมกับค่าครองชีพ ส่วนในอีก 3 เดือน แม้ดัชนีเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 42.5 สูงสุดรอบ 39 เดือน แต่ค่าดัชนียังต่ำกว่าระดับปกติที่ 100 แสดงว่า ผู้บริโภคยังรู้สึกว่า ค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูงอาจบั่นทอนอำนาจซื้อในอนาคต ส่วนดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง อยู่ที่ 50.1 ดีขึ้นจากเดือนก.พ.66 ที่ 47.8 ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และสูงสุดในรอบ 40 เดือน ส่วนในอีก 3 เดือนดัชนีอยู่ที่ 55.9 แม้ดีขึ้น แต่ประชาชนยังเห็นว่า สถานการณ์การเมืองไทยยังไม่มีเสถียรภาพมากนัก

สำหรับดัชนีคามเชื่อมั่นผู้บริโภค พบว่า ดัชนีทุกรายการดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และสูงสุดรอบ 37 เดือนนับตั้งแต่เดือนมี.ค.63 หรือหลังจากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างชัดเจน โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.66 อยู่ที่ 53.8 เพิ่มจาก 52.6 ในเดือนก.พ.66, ดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบัน อยู่ที่ 38.0 เพิ่มจาก 37.0 และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต อยู่ที่ 61.4 เพิ่มจาก 60.2 เพราะผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นหลังจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน, ราคาน้ำมันลดลง แต่ยังกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่ยังสูง, การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่อาจเพิ่มแรงกดดันให้เศรษฐกิจโลกถดถอย กระทบการส่งออกไทย และกำลังซื้อหด

“หลังจากที่ประชาชนเชื่อมั่นมากขึ้น ก็เริ่มใช้จ่ายมากขึ้น เห็นได้จาก ดัชนีซื้อรถยนต์คันใหม่ ดัชนีความเหมาะสมซื้อบ้านหลังใหม่ ดัชนีความเหมาะสมการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง ส่วนกลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาท ยังระมัดระวังการใช้จ่าย ตอกย้ำให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเป็นรูปตัว K ที่คนส่วนใหญ่ของประเทศยังเห็นว่าเศรษฐกิจไม่ดี ยังไม่กล้าใช้จ่ายเท่ากับคนที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง”

อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่า ในช่วงสุญญากาศทางการเมืองช่วงไตรมาส 3 หรือก่อนที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ และมีคณะรัฐมนตรี เศรษฐกิจอาจไม่มีแรงขับเคลื่อน จึงต้องการให้เร่งจัดตั้งรัฐบาล จัดทำและอนุมัติงบประมาณปี 67 โดยเร็ว เพราะคาดว่า หากได้แกนนำรัฐบาล ที่ไม่ใช่พรรคร่วมรัฐบาลขณะนี้ ก็อาจต้องรื้องบปี 67 และจัดทำใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายที่ใช้หาเสียง ซึ่งต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะแล้วเสร็จ รวมถึงต้องการให้ใช้งบประมาณเก่าไปพลางอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เศรษฐกิจไทยยังคงมีแรงขับเคลื่อนจากภครัฐ นอกเหนือจากการท่องเที่ยว