“โจ ไบเดน” เลือก “คามาลา แฮร์ริส” วุฒิสมาชิกหญิงเชื้อสายอินเดียน-แอฟริกันลงคู่ในศึกชิง ปธน. สหรัฐฯ ส่วน “แทมมี่ ดักเวิร์ธ” วุฒิสมาชิกเชื้อสายไทยม้าตีนต้นอกหัก

“โจ ไบเดน” ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครตเลือก “คามาลา แฮร์ริส” วุฒิสมาชิกหญิงเชื้อสายอินเดีย-แอฟริกัน รัฐแคลิฟอร์เนีย ให้ลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คู่กับเขา

“แฮริส” มีประวัติการทำงานทั้งในวุฒิสภาสหรัฐฯ และสำนักงานอัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย เธอมาจากภูมิหลังที่หลากหลาย แม่ของเธอมาจากอินเดีย ส่วนพ่อมาจากจาเมกา สมาชิกพรรคเดโมแครต จำนวนมากชื่นชมเธอจากการที่เธอแสดงการสนับสนุนการปฏิรูปตำรวจ และการประท้วงการเหยียดผิว

“ไบเดน” ทวีตว่า เขา “เป็นเกียรติอย่างยิ่ง” ในการประกาศให้ “แฮริส” เป็นเพื่อนรวมทีมในศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งพรรครีพับลิกัน ที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 พ.ย.

ก่อนหน้านี้ “แฮริส” เคยเสนอตัวเป็นคู่แข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ถอนตัว เมื่อ ธ.ค. ปีที่แล้ว

“ไบเดน” ยกย่องวุฒิสมาชิกสตรีวัย 55 ปีผู้นี้ว่าเป็น “นักสู้เพื่อคนตัวเล็กตัวน้อยโดยไม่เกรงกลัวอะไร และเป็นหนึ่งในข้าราชการฝีมือเยี่ยมของประเทศ”

ในอดีต มีเพียงสตรีผิวขาว 2 คน ที่ได้รับเสนอชื่อให้เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี คือ “ซาราห์ เพลิน” จากพรรครีพับลิกันเมื่อปี 2008 และ “เจอรัลดีน เฟอร์ราโร” จากพรรคเดโมแครตเมื่อปี 1984

แทมมี่ ดักเวิร์ธ ม้าตีนต้น

เมื่อเดือน ก.ค. “แทมมี่ ดักเวิร์ธ” วุฒิสมาชิกเชื้อสายไทย แห่งรัฐอิลลินอยส์ จากพรรคเดโมแครตของสหรัฐฯ ถูกจับตามองจากสื่อยักษ์ใหญ่หลายสำนักว่ามีโอกาสได้รับเลือกลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คู่กับนายไบเดน

ดักเวิร์ธ วัย 52 ปี ชื่อเต็มคือ พันโทหญิง ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ เป็นอดีตทหารผ่านศึกของสหรัฐฯ ในสงครามอิรัก ซึ่งทำให้เธอต้องสูญเสียขาทั้งสองข้างหลังเฮลิคอปเตอร์ถูกโจมตี ต่อมาเธอได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก่อนจะชนะเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภารัฐอิลลินอยส์ในปี 2016

เธอคือชาวอเมริกันเชื้อสายไทยคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งเข้าสภาคองเกรสของสหรัฐฯ และเป็นผู้หญิงคนแรกที่คลอดลูกระหว่างดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกอีกด้วย

คู่แข่งคนอื่น ๆ ก่อนหน้า

”เกร็ตเชน วิตเมอร์” ผู้ว่าการรัฐมิชิแกน ก่อนหน้านี้ยังไม่ค่อยมีการพูดถึงเธอมากนัก จนกระทั่งช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเธอได้ออกมารับมือกับการระบาดของเชื้อ และวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลกลาง ทำให้เธอตกเป็นเป้าการโจมตีของ “โดนัลด์ ทรัมป์” และมีความโดดเด่นขึ้นมาในพรรคเดโมแครต

“เอลิซาเบธ วอร์เรน” วุฒิสมาชิกรัฐแมสซาชูเสตส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สมัครรับเลือกเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตลงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เธอมีคะแนนนำในการสำรวจความคิดเห็นเป็นเวลาหลายเดือนในช่วงกลางปีที่แล้ว ก่อนที่จะแผ่วลง หลังจากผู้สนับสนุนฝ่ายก้าวหน้าหันไปสนันสนุนนายเบอร์นี แซนเดอร์ส ส่วนผู้สนับสนุนสายกลางก็หันไปสนับสนุนนายพีต บูติเจิจ ผู้สมัครที่อายุน้อยกว่า

นอกจากนี้ยังมีผู้หญิงในแวดวงการเมืองมีรายชื่อติดโผอีกหลายคนรวมถึง “แทมมี่ บอลด์วิน” วุฒิสมาชิกรัฐวิสคอนซิน “เคีร์ยสเติน ซินเนมา” วุฒิสมาชิกรัฐแอริโซนา “ซูซาน ไรซ์” อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ และ “มิเชล โอบามา” อดีตสตรีหมายเลขหนึ่ง

ที่มา- https://www.bbc.com/thai/53746159