โควิด-19ทุบดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการร่วงหนัก

  • ความเชื่อมั่นเดือนเม.ย.63ต่ำสุดรอบ20ปี11เดือน
  • ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดยรวมต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
  • คาดคนชะลอใช้จ่ายอีก3-6เดือนฉุดเศรษฐกิจปีนี้ติดลบ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนเม.ย. 63 ว่า ดัชนีทุกรายการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.63 อยู่ที่ 47.2 ลดจาก 50.3 ในเดือนมี.ค.63 ต่ำสุดในรอบ 20 ปี 11 เดือน หรือตั้งแต่เดือนมิ.ย.42 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน อยู่ที่ 3105 ลดจาก 33.6 และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต อยู่ที่ 54.6 ลดจาก 58.2 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หรือตั้งแต่เริ่มสำรวจตั้งแต่เดือนต.ค.42

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 39.2 ลดจาก 41.6 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางาน อยู่ที่ 46.0 ลดจาก 49.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 56.4 ลดจาก 59.9

“การลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการที่ต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 14 และลดลงแรงเป็นเดือนที่ 2 หลังจากโควิด-19 ระบาด รวมถึงบางรายการยังต่ำสุดเป็นประวัติการณ์  แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคกังวลว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะถดถอยจากการระบาดไวรัสโควิด-19  ซึ่งจะมีผลต่อกำลังซื้อภายในประเทศ  ภาคการท่องเที่ยว  ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต รวมถึงภัยแล้งที่ซ้ำเติมเกษตรกร และ”  

ราคาพืชผลทางการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ คาดว่า ผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายออกไปอีกอย่างน้อย 3-6 เดือน จนกว่าโควิด-19 จะคลายตัว และมีการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจอย่างกว้างขวาง”

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า ศูนย์ได้ประเมินกรณีที่รัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ระยะที่ 2 ในวันที่ 17 พ.ค.63 พร้อมทั้งเปิดกิจการค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และร้านค้าภายในศูนย์การค้านั้น จะช่วยให้เกิดมูลค่าการใช้จ่ายและเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 6,000-8,000 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 200,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งจะช่วยสร้างความคึกคักในระบบเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง เพราะจะช่วยเกิดการจ้างงานเข้าสู่ระบบมากขึ้น

“หลังจากโควิด-19 ระบาด ทำให้เม็ดเงินภาคการบริโภคหายไป 10,000 ล้านบาทต่อวัน หรือ 300,000 ล้านบาทต่อเดือน ดังนั้น เมื่อรัฐบาลทยอยรีสตาร์ทธุรกิจ โดยปลดล็อคเฟสแรก คาดจะทำให้เงินสะพัด 2,000-3,000 ล้านบาทต่อวัน หรือ 60,000-90,000 ล้านบาทต่อเดือน และล็อตที่ 2 คาดจะมีเงินสะพัดอีก 4,000-5,000 ล้านบาทต่อวัน หรือ 120,000-150,000 ล้านบาทต่อเดือน เมื่อรวม 2 เฟส จะอยู่ที่ 6,000-8,000 ล้านบาทต่อวัน หรือ 180,000-240,000 ล้านบาทต่อเดือน และคาดว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ จะติดลบ 5% ถึงลบ 3.5%”