โควิด-19ช็อกโลกกสิกรไทยหั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 0.50%

  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินโควิด-19กระทบวงกว้างหั่นจีดีพีปีนี้โตแค่0.50%จากเดิม2.7%
  • นักท่องเที่ยวหาย8.3ล้านคนสูญรายได้4แสนล้าน-พนักงานว่างงานทันที2แสนตำแหน่ง
  • มีโอกาสกนง.ปรับลดดอกเบี้ยรอบนี้0.50%เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอ่อนไตรมาส3

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้เหลือ 0.50 % จากเดิม 2.70 % เนื่องจากเกิดปัจจัยช็อกทางเศรษฐกิจ เกิดการะบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ปีนี้นักท่องเที่ยวหายไป 8.3 ล้านคน หรือหดตัว 20.8 % จากปีก่อน  ส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวหายไป 400,000 ล้านบาท ขณะที่การจ้างงานในภาคการท่องเที่ยว มีการว่างงานเพิ่มขึ้น 200,000 ตำแหน่ง จากการจ้างงาน 4 ล้านคน ขณะเดียวกันยังมีผลกระทบโดยตรงและทางอ้อมต่อการส่งออก ประเมินว่าการส่งออกปีนี้ติดลบ 5.6 % จากปีก่อน  

  “จีดีพีปีนี้ที่ 0.50 % ภายสมมุติฐานการระบาดของไรรัสโควิด-19 ภายในจีน และในประเทศอื่นๆ จบภายในไตรมาส 2 ปีนี้ ขณะที่ในประเทศไทยไม่เกิดสถานการณ์การติดเชื่อโควิด-19 ไม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 จีดีพีของประเทศไทยจะติบลบ และไตรมาสที่ 3 จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวอ่อน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะกลับมาเป็นปกติในช่วงไตรมาส 4”

 สำหรับมาตรการทางการเงินและการคลัง ที่ออกมาจะช่วยแบ่งเบาภาระหนี้ หรือเป็นการต่อลมหายใจ ส่วนมาตรการทางการเงิน หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ประชุมฉุกเฉิน พร้อมปรับลดดอกเบี้ยลง 0.50 % จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้นจึงเชื่อว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 25 มี.ค.นี้ มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25 % หรือจาก 1 % เหลือ 0.75 % นอกจากนี้ยังเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ติดตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการแพร่ระบาดในยุโรป และสหรัฐฯ นับจากนี้มีความรุนแรง  กนง.มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยสูงถึง 0.50 % 

อย่างไรก็ตามหลังการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของกนง.  สิ่งที่ตามมาคือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ และแม้ทางเลือกการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจไม่ใช่ยาวิเศษที่พลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วในจังหวะไม่ปกติเช่นนี้ แต่ก็คงช่วยบรรเทาภาระต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือนลงได้บางส่วน   

ส่วนธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทย สถานการณ์การชะลอตัวลงแรงของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก จะส่งผลกระทบต่อรายได้ ทั้งรายได้จากดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียม โดยเฉพาะรายได้ดอกเบี้ยหลักจากเงินให้สินเชื่อที่จะเผชิญทั้งผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม และสินเชื่อที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการของอัตราการเติบโตลงมาที่ระดับไม่เกิน 1% ในปี 2563 (เดิมมองกรอบล่างไว้ที่ 3.0%) เทียบกับ 2.2% ณ สิ้นปี 2562 ขณะที่ ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้ด้อยคุณภาพอาจเพิ่มขึ้นตามทิศทางเอ็นพีแอลที่มีโอกาสขยับขึ้นจาก2.98% เมื่อสิ้นปี 2562 โดยต้องรอดูสถานการณ์และตัวเลขไตรมาสแรกที่จะออกมาภายใต้มาตรฐานบัญชีใหม่ด้วยเพื่อประเมินทิศทางที่ชัดเจนอีกครั้ง  

อย่างไรก็ตาม โจทย์สำคัญกว่าของธนาคารพาณิชย์ไทย ณ ขณะนี้ คือการช่วยเหลือลูกค้าผ่านมาตรการต่าง ๆ ที่ร่วมมือกับทางการ เพื่อให้ลูกค้าผ่านพ้นช่วงยากลำบากนี้ไปก่อน ขณะที่ผลกระทบต่อผลประกอบการในปีนี้ เป็นสิ่งที่นักลงทุนรับรู้ไประดับหนึ่งแล้ว และเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับสถาบันการเงินทั่วโลก