โควิด-19ฉุดยอดส่งออกไทยเดือนส.ค.ชะลอตัว

.มูลค่า 2.1 หมื่นล้านเหรียญฯลดจากก.ค.ที่ 2.2 หมื่นล้านเหรียญฯ

.แต่ 8 เดือนยอดโตแล้วกว่า 15% มั่นใจทั้งปีโตเกินเป้า 4% 

.ยอดนำเข้าสินค้าผลิตเพื่อส่งออกพุ่งไม่หวั่นขาดดุลการค้า

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า เดือนส.ค.64 การส่งออกมีมูลค่า 21,976.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น  8.93% เมื่อเทียบกับเดือนส.ค.63 หากหักมูลค่าส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ ที่มีความผันผวนด้านราคาออก ขยายตัวสูงถึง 19.43% คิดเป็นเงินบาท 715,416.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  12.83% ส่วนการนำเข้า  23,191.89 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 47.92% คิดเป็นเงินบาท  765,248.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53.20% ขาดดุลการค้า 1,215.66 ล้านเหรียญฯ หรือ 49,832.40 ล้านบาท  

ขณะที่ในช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ปีนี้ การส่งออกมีมูลค่า 176,961.70 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 15.25% เทียบช่วงเดียวกันของปี 63 หักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธออก ขยายตัวได้มากถึง 21.22% คิดเป็นเงินบาท 5.441 ล้านล้านบาท เพิ่ม 13.78% การนำเข้า 175,554.75 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 30.97% คิดเป็นเงินบาท 5.476 ล้านล้านบาท เพิ่ม 29.52% ได้ดุลการค้า 1,406.96 ล้านเหรียญฯ แต่คิดเป็นเงินบาทขาดดุล 34,909.98 ล้านบาท 

“แม้ตัวเลขส่งออกเดือนส.ค.ยังขยายตัวสูง แต่เป็นอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก.ค.ที่มีมูลค่า 22,650 ล้านเหรียญฯ เป็นผลจากการล็อกดาวน์ และการปิดโรงงานผลิตชั่วคราว เพราะพนักงานติดเชื้อโควิด ซึ่งเป็นผลกระทบที่คาดไว้แล้ว และจะกระทบต่อเนื่องถึงเดือนก.ย. แต่การล็อกดาวน์ไม่ใช่ความผิดของใคร เป็นนโยบายที่ถูกต้องแล้ว เพราะเมื่อมีการติดเชื้อมาก สุขภาพและความปลอดภัยของคนต้องมาอันดับ 1 แม้ปิดโรงงานก็ต้องแลกกัน”  

อย่างไรก็ตาม คาดว่า ทั้งปีนี้ การส่งออกไทยจะขยายตัวได้มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 4% เพราะเพียง 8 เดือนก็ขยายตัวกว่า 15% แล้ว และจากการสอบถามภาคเอกชน ก็เห็นว่า น่าจะโตได้เป็นตัวเลข 2 หลักหรือโตเกินกว่า 10% ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ จะเร่งเดินหน้ากิจกรรมส่งเสริมการส่งออกกว่า 130 กิจกรรมในช่วงที่เหลือของปี, เร่งเปิดด่านการค้าชายแดน, จับมือภาคเอกชนแก้ปัญหาเชิงรุกสำคัญ เพื่อให้การส่งออกขยายตัวได้มากที่สุด 

สำหรับปัจจัยที่ทำให้การส่งออกขยายตัวได้ดีเป็นเพราะเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน รวมถึงการทำงานหนักของกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชน ในการแก้ปัญหาส่งออก โดยเฉพาะปัญหาเฉพาะหน้าที่ขัดขวางการส่งออก, ดัชนี PMI ของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้น แสดงว่า พร้อมจะซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น, ค่าเงินบาทอ่อนค่า ทำให้การแข่งขันด้านราคาของไทยดีขึ้น 

ด้านนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำยวนการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การนำเข้าเดือนส.ค. ขยายตัวถึง 47.21% จากการนำเข้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมาก เพราะการฟื้นตัวของภาคการผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งเป็นสัญญาณดีต่อการส่งออกไทย สำหรับแนวโน้มในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปี จะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้จะชะลอลงบ้างเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 63 ที่มีการขยายตัวสูงขึ้นแล้ว  

ส่วนปัญหาขาดแคลนชิป และเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก จากการสอบถามภาคเอกชน พบว่า ปัญหาจะคลี่คลายได้เร็วๆ นี้ เพราะผู้ผลิตกลับมาเร่งการผลิตเพิ่ม จากก่อนหน้านี้ ผู้ผลิตสำคัญทั้งสหรัฐฯ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนต้องปิดโรงงาน และผลกระทบจากภัยธรรมชาติ รวมถึงความต้องการใช้ที่สูงมากจนผลิตไม่ทัน แต่ยังไม่กระทบการส่งออกของไทยในไตรมาส 3 เพราะสินค้าที่ใช้ชิป และเซมิคอนดักเตอร์ ยังส่งออกได้ดี ทั้งรถยนต์ คอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า แต่จะเห็นผลกระทบชัดเจนในไตรมาส 4