โควิด “ติดๆ หายๆ” เศรษฐกิจไทยช้ำอีกนาน

ในที่สุด รัฐบาลก็ประกาศเลื่อนขั้นพื้นที่เสี่ยง 5 จังหวัด กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และนครปฐม เข้าสู่โหมด “สีแดง”อีกรอบ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงขึ้นมาก จากคลัสเตอร์สถานบันเทิง (อีกแล้ว) รวมทั้ง ยังกระจายความเสี่ยงออกไปในหลายพื้นที่ และหลายจังหวัด

และหากไม่ดำเนินการควบคุมพื้นที่เสี่ยง และยกการ์ดให้สูงขึ้นอีกครั้ง คลัสเตอร์นี้อาจจะกลายเป็นโควิด ระลอกใหม่ รอบที่ 2 ก็เป็นได้

ในทางเศรษฐกิจนั้น แน่นอนว่า การระบาดเป็นกลุ่มก้อนแบบที่ยังควบคุมจำกัดวงได้ยากเช่นนี้ ย่อมกระทบต่อความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายของประชาชนอย่างแน่นอน 

ขณะที่ แบงก์พาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ยากมากขึ้น เนื่องจากบริษัทน้อยใหญ่ต่างอยู่ในภาวะประคองตัว และส่วนใหญ่ยังไม่มีความมั่นใจเพียงพอที่จะขยายกิจการ หรือลงทุนใหม่ๆ เพิ่มขึ้น หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยัง “ลักปิดลักเปิด” เป็นๆ หายๆ เหมือนในขณะนี้ 

อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยว ยังคงคาดหวังว่า การพุ่งขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากคลัสเตอร์สถานบันเทิงครั้งนี้ จะไม่กระทบรุนแรงต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์มากนัก โดยเฉพาะคนที่จองที่พักในต่างจังหวัดไว้ล่วงหน้า

ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินว่า ในช่วงสงกรานต์ปีนี้จะมีเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวสะพัดประมาณ 3,700 ล้านบาท แม้ยอดจองที่พักจะแค่เพียง 30% ของยอดที่พักทั้งหมดทั่วประเทศ แต่ก็ถือว่า เป็นจำนวนการของห้องพักที่ดีกว่าในช่วงก่อนหน้า

สถานการณ์ต่อจากนี้ คงต้องจับตากันต่อไป ว่า รัฐบาลจะสามารถจบเคสของการแพร่ระบาดรอบนี้ได้เร็วแค่ไหน เพราะจำนวนผู้เกี่ยวข้องและมีความเสี่ยงมีจำนวนไม่น้อย และกระจายไปในหลายพื้นที่ นอกจากนั้น ต้องพิจารณาถึงมาตรการเข้มงวดที่รัฐบาลจำเป็นต้องงัดออกมาใช้เพื่อจำกัดบริเวณเสี่ยงและลดจำนวนผู้ติดเชื้อ

เพราะเราก็รู้ๆ กันในบทเรียนของการระบาดรอบก่อนๆ ว่า หากสถานการณ์ยิ่งยาวนานหลายเดือน และต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นเท่าไร ความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ และโอกาสของการฟื้นฟูจะยิ่งมากขึ้น

ทั้งนี้ ย้อนกลับไปในช่วงการระบาดของโควิด -19 ระลอกใหม่ ในช่วงปลายเดือน ธ.ค.ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งสามารถควบคุมได้ดีในระดับที่พอรับได้ในช่วงกลางเดือน ก.พ.ปีนี้ จะพบว่า ในช่วงประมาณเกือบ 2 เดือน เศรษฐกิจไทยเสียหายเพิ่มขึ้นประมาณ 120,000-200,000 ล้านบาท 

โดยเทียบจาก การประมาณการความเสียหายจากโควิด -19 ระลอกใหม่ของสำนักวิจัยเศรษฐกิจ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่ประมาณการว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ระลอกใหม่ ภายใต้มาตรการรัฐที่ไม่เข้มงวดเท่าในเดือน เม.ย.63 ตกอยู่ที่ประมาณ เดือนละ 60,000-100,000 ล้านบาท

ยังไม่นับความสูญเสียของเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา  ซึ่งเศรษฐกิจไทยโตติดลบ 6.1% ทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจหายไปมากกว่า 1 ล้านล้านบาท ขณะที่จำนวนผู้ว่างงาน และเสมือนว่างงาน ยังอยู่ในระดับประมาณ 2-3 ล้านคน 

ทั้งนี้ หลายคนมุ่งเป้าไปที่ “ผู้ประกอบการสถานบันเทิง และร้านอาหาร” ซึ่งถูกกระทบซ้ำแล้วซ้ำอีก ขาดรายได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากการระบาดคลัสเตอร์ ใหม่นี้  แต่จริงๆ แล้ว ทุกครั้งที่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน หรือมีคลัสเตอร์ใหม่ๆ ที่มีจำนวนผู้เกี่ยวข้องหลักพัน หลักหมื่น ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจไทย ย่อมถูกกระทบต่อเนื่องกันทั้งหมดเป็นลูกโซ่

โมเมนตัมของ “การใช้จ่าย การลงทุนใหม่ การเปิดประเทศ” จะหยุดชะงักเป็นระยะๆ ขณะที่การกลับไปขยายตัวย่างเต็มศักยภาพของเศรษฐกิจไทย ถูกเลื่อนเวลาออกไปเรื่อยๆ 

ในช่วงเดือน ก.ค.ปี 63 เมื่อเราคุมการระบาดรอบแรกได้ สำนักวิเคราะห์วิจัยเศรษฐกิจคาดว่า เศรษฐกิจไทยในทุกภาคจะเริ่มฟื้นตัวชัดเจนใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดได้ ได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 65  

แต่เมื่อมีการระบาดระลอกใหม่ในช่วงปลายเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยตามประมาณการขยับออกไปอีก 1 ไตรมาส โดยคาดกันว่า จะเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปี 65

ยกเว้น ภาคการท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ที่การฟื้นตัวจะล่าช้าออกไปกว่าไตรมาสที่ 3 ของปีหน้า เนื่องจากความล่าช้าของการฉีดวัคซีน และการเปิดประเทศ

สำหรับการระบาดกลุ่มก้อนใหม่ที่เกิดขึ้นวันนี้ หากรัฐบาลจำเป็นต้องควบคุมพื้นที่สีแดงเพิ่มเติม หรือต้องใช้มาตรการต่างๆที่เข้มงวดมากขึ้นเท่ากับในช่วงการระบาดระลอกใหม่ 

ความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และกระทบต่อภาคแรงงาน ภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจย่อมจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.2 ล้านล้านบาทในวันนี้ ขณะเดียวกัน ก็เลื่อน “เวลา” ที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวให้ล่าช้าออกไปด้วย ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายเพิ่มอีก เพื่อเติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิ

การควบคุมการแพร่ระบาด และมาตรฐานด้านสาธารณสุข จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ไม่ยิ่งหย่อนไปว่าการเร่งรัดกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะหากทุกครั้งรัฐบาลใส่เงินเพิ่มเพื่อเหยียบคันเร่ง แต่อีกด้านกลุ่มก้อนการระบาดรอบใหม่ๆ ค่อยบั่นทอนความมั่นใจให้ต้อง “เหยียบเบรค” รถยนต์เศรษฐกิจไทยก็แล่นไปไม่ถึงไหนเสียที

#เศรษฐกิจคิดง่ายๆ #โควิด19#Thejournalistclub