โควิดฟาดหางยื้อทำธุรกิจต่อได้อีกแค่4.6เดือน

  • หนำซ้ำมีม็อบซ้ำเติมทำผู้ประกอบการเงินขาดมือ
  • อ้อนรัฐขอสินเชื่อเพิ่มต่อลมหายใจธุรกิจเร่งด่วน
  • ลอยกระทงปีนี้กร่อยเงินสะพัดแค่ 9 พันล.ต่ำสุดรอบ 9 ปี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจความเชื่อมั่น ทางด้านเศรษฐกิจของภาคธุรกิจต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งสำรวจจากผู้ประกอบการทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 20 – 22 ต.ค.63 ว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อธุรกิจอันดับ 1 คือ ปัญหาโควิด-19 รองลงมา คือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ สถานการณ์ทางการเมือง สภาพคล่องทางการเงิน โดยจากปัจจัยทางการด้านเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน ผู้ประกอบการมองว่า จะสามารถประคองธุรกิจได้นานเฉลี่ยไม่เกิน 4.6 เดือน แต่หากแบ่งตามขนาดธุรกิจ พบว่า ผู้ประกอบการรายย่อย (เอส) อยู่ได้ไม่เกิน 4.3 เดือน ขนาดกลาง (เอ็ม) ไม่เกิน 4.9 เดือน และขนาดใหญ่ (แอล) ไม่เกิน 5.1 เดือน

สำหรับสิ่งที่ต้องการได้จากรัฐบาล เพื่อพยุงธุรกิจมากที่สุดเวลานี้ คือ สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ รองลงมา คือ การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ การหาตลาดใหม่ การลดภาระหนี้ มาตรการลดภาษีเพื่อธุรกิจ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย แม้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงปลายปี ทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง และช้อปดีมีคืน แต่ไม่ได้มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก เพราะประชาชนยังคงระมัดระวังใช้จ่าย รัฐบาลจึงจำเป็นต้องอัดฉีดงบประมาณการลงทุน เพื่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

“ ถ้าการชุมนุมทางการเมืองยังยืดเยื้อจนถึงสิ้นปีนี้ เชื่อว่า ปัจจัยทางการเมือง จะส่งผลกระทบแซงหน้าปัญหาโควิด -19 ที่เริ่มคลี่คลายลง เพราะเริ่มกังวลว่า การยกระดับความรุนแรงของการชุมนุม ที่ส่งผลถึงความปลอดภัย เศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ รวมถึงแนวร่วมการชุมนุมที่ขยายวงกว้างและระยะเวลาในการชุมนุมยาวนานมากขึ้นนั้น อาจมีผลกระทบต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในผู้ชุมนุมได้ และมองว่าความขัดแย้งและความเห็นต่างทางความคิด ส่งผลกระทบต่อสังคมทัศนคติและความสามัคคีภายในประเทศ ทำให้ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของประเทศไทยลดลง”

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อถึงผลสำรวจการใช้จ่ายในช่วงวันลอยกระทง ปี 63 ว่า คาดว่าปีนี้จะมีมูลค่าการใช้จ่ายอยู่ที่ 9,429.96 ล้านบาท ลดลง 1.5% จากปี 62 ที่มีมูลค่าใช้จ่าย 9,573.56 ล้านบาท โดยมูลค่าการใช้จ่ายปีนี้ ต่ำสุดในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่ปี 55 เพราะคนวางแผนไปลอยกระทงน้อยกว่าปี 62 อีกทั้งยังคงระมัดระวังใช้จ่าย เพราะเศรษฐกิจไม่ดี และไม่มั่นใจรายได้ในอนาคต ทำให้คาดว่า เศรษฐกิจไทยอาจฟื้นตัวล่าช้าไปอยู่ในช่วงไตรมาส 3 ปี 64 จากเดิมคาดจะฟื้นตัวตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 ปี 64