“อุตตม”เร่งปฎิรูปโครงสร้างภาษีใน 3 เดือน

  • สั่ง3กรมจัดเก็บภาษีศึกษาแนวทางร่วมกัน
  • ดึงเทคโนโลยีเข้าใช้เพิ่มประสิทธิภาพ
  • สร้างความเท่าเทียมระบบภาษีทั้งระบบ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงาน Bangkok Post Forum 2019 ในหัวข้อ “ทิศทางประเทศไทยภายใต้รัฐบาลใหม่” ว่า เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมโดยการปฎิรูปโครงสร้างภาษีนั้น เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำภายใน 3 เดือน โดยได้มอบให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ร่วมกับกรมจัดเก็บภาษี 3 แห่ง ได้แก่ กรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต ร่วมกันศึกษาแนวทางเพื่อที่จะปรับปรุงและยกระดับระบบการจัดเก็บภาษี โดยยังสามารถรักษาวินัยการเงินการคลังซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทยไว้ได้

“ระบบการจัดเก็บภาษีนั้น จะต้องเป็นระบบภาษีที่สร้างความเท่าเทียม ซึ่งไม่ใช่หมายถึงจ่ายภาษีเท่ากันทั้งหมด แต่ต้องเท่าเทียมตามความเหมาะสมของรายได้ประชาชน ทั้งในภาคอุตสาหกรรม บริการ และผู้ประกอบการเอกชน ส่วนการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บนั้น จะเน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อให้การจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเป็นภาระให้กับผู้จ่ายภาษีน้อยที่สุด” 

ส่วนภาษีในรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะภาษีออนไลน์ ขณะนี้กฎหมายภาษีอีคอมเมิร์ซ(E-Commerce) ที่จัดเก็บภาษีจากธุรกิจออนไลน์นั้นมีผลบังคับใช้แล้ว นอกจากนี้รัฐบาลยังเตรียมเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซรูปแบบอื่นๆ จากบริษัทขนาดใหญ่ของต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้กำลังดูว่าจะจัดเก็บภาษีอย่างไรได้บ้าง

“ถ้าอยากให้ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลจะต้องส่งเสริมสตาร์ทอัพ(Startup)หรือคนตัวเล็กให้สามารถลงทุนได้โดยง่าย  และระบบภาษีที่กำหนดขึ้นมาจะต้องเป็นระบบภาษีที่เป็นธรรม ส่งเสริมการลงทุนต่างๆ ของประเทศทั้งบุคลากรและเทคโนโลยี รวมถึงการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย”

สำหรับข้อดีของประเทศไทย คือ การมีฐานะการคลังที่เข้มแข็ง ซึ่งสามารถรองรับปัญหาความผันผวนจากต่างประเทศได้ โดยขณะนี้ไทยได้เตรียมมาตรการรับมือด้านเศรษฐกิจเอาไว้แล้วหากเกิดผลกระทบ จึงขอให้เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าไปได้ แต่สิ่งที่ต้องระวังคือเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งถือเป็นความท้าทายแท้จริงในอีก 3-5 ปีข้างหน้า

“สิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการ คือ การเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันผ่านการลงทุนเพื่ออนาคต ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนด้านดิจิทัล ซึ่งจะต้องใช้งบมหาศาลดังนั้นการลงทุนร่วมกับเอกชนจึงสำคัญ  อย่างไรก็ตามขณะนี้กำลังประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขยายการลงทุนในกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ หรือ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย เพื่อเป็นช่องทางให้เกิดการลงทุนในประเทศมากขึ้น”