“แอตต้า”ขอรัฐบาลช่วยลูกจ้างอีก 11 สาขาอาชีพ ในธุรกิจท่องเที่ยวได้รับเงินชดเชยประกันสังคม

  • หลังจ่ายเงินเดือนลูกจ้างตั้งแต่เริ่มวิกฤติ
  • จนเงินสำรองธุรกิจเกลี้ยง
  • หวั่นต้องปิดกิจการถาวร

นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว(แอตต้า) เปิดเผยว่า แอตต้าขอความเห็นให้รัฐบาลพิจารณาให้ลูกจ้างในธุรกิจท่องเที่ยวทั้ง 13 สาขาอาชีพ คิดเป็นจำนวนแรงงานกว่า 4 ล้านคนทั่วประเทศที่เจ้าของธุรกิจจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราวจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้รับเงินชดเชยการว่างงานจากกองทุนประกันสังคมตามเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนด 62% ของค่าจ้างรายวัน อันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย หลังจากที่ตอนนี้ 2 ใน 13 สาขาอาชีพ ได้แก่ มัคคุเทศก์ อยู่ในเกณฑ์ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 6 เดือน ส่วนลูกจ้างโรงแรม ล่าสุด ครม.ได้เห็นชอบในหลักการให้รับเงินชดเชยจากประกันสังคม ทั้งกรณีที่รัฐเป็นผู้สั่งปิดกิจการโรงแรมชั่วคราวและผู้ประกอบการโรงแรมปิดกิจการชั่วคราวด้วยเหตุุสุดวิสัย

ดังนั้น ยังเหลือแรงงานท่องเที่ยวใน 11 สาขาอาชีพที่ยังรอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ได้แก่ ธุรกิจทัวร์อินบาวด์ ทัวร์เอาท์บาวด์ ทัวร์ภายในประเทศ ขนส่งนักท่องเที่ยวทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ธุรกิจส่งเสริมตลาดไมซ์ (การจัดประชุม นิทรรศการ การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล) ธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่มสำหรับนักท่องเที่ยว ธุรกิจนันทนาการ ธุรกิจจำหน่ายสินค้าสำหรับนักท่องเที่ยว และสาขาส่งเสริมความสัมพันธ์การท่องเที่ยวในประเทศหรือระหว่างประเทศที่รอรัฐบาลตัดสินใจอยู่

“ขอรัฐบาลอย่าลืมพวกเรา เพราะธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส-โควิด-19 มาก่อนธุรกิจอื่นๆ ตั้งแต่กลางเดือนม.ค. จนกระทั่งวันที่ 25 ม.ค.ท่ีรัฐบาลจีนสั่งห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวออกนอกประเทศ ตอนนั้นทำให้เราสะดุดโดยทันที และจีนคิดเป็น 30% ของนักท่องเที่ยวไทย ธุรกิจในกลุ่มพวกเราได้จ่ายเงินเดือนให้ลูกน้องโดยที่รายได้ไม่เข้าบริษัทเลยมาเต็มเดือนก.พ.และมี.ค.จนเงินที่สำรองเอาไว้หมดแล้ว หลายๆบริษัทโดยเฉพาะบริษัททัวร์บอกถ้าเลยไปกว่านี้จะอยู่ไม่ไหว เพราะไม่รู้เหตุการณ์จะจบเมื่อไหร่ ก็คงจะต้องปิดกิจการถาวร ซึ่งหากคิดจำนวนบริษัททัวร์มีมากถึง 15,000 บริษัท มีลูกจ้างกว่า 300,000 คนที่อาจต้องตกงานถาวร”

ส่วนเรื่องของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่คณะรัฐมนตรีให้ธนาคารออมสินจัดวงเงิน 10,000 ล้านบาทสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวโดยเฉพาะนั้น จะต้องรอคณะกรรมการธนาคารออมสินได้พิจารณาก่อน เพราะได้เรียกร้องให้ผ่อนปรนเรื่องของหลักประกันไป เช่น ขอให้ดูผลประกอบการย้อนหลังแทนดูการเดินบัญชี เพราะต้องยอมรับว่าตอนนี้ธุรกิจท่องเที่ยวไม่มีรายได้เข้ามาเลย