แผนส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า สะดุด เหตุ “คลัง-อุตสาหกรรม” เห็นต่าง

  • มาตรการสนับสนุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่
  • ลุ้นบอร์ดอีวี เคาะตัดสินใจ
  • หวั่นไทยเสียโอกาส เอกชนย้ายไปลงทุนประเทศอื่น

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการคลังว่า ขณะนี้มาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี)ในประเทศไทย เป็นไปอย่างล่าช้า โดยเฉพาะการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อให้ค่ายรถยนต์ที่นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ต้องมาตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย และเปลี่ยนสายการผลิตจากรถยนต์สันดาป หรือรถยนต์ใช้น้ำมัน มาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าด้วยนั้น 

สำเหตุผลที่ทำให้เกิดความล่าช้านั้น เนื่องจากกระทรวงการคลัง และกระทรวงอุตสาหกรรม ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน  โดยกระทรวงอุตสาหกรรม มีแนวคิดต้องการให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ เข้ามาตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทยก่อน จึงจะได้รับมาตรการสนับสนุนจากรัฐบาล  ขณะที่กระทรวงการคลัง ต้องการใช้มาตรการที่คล้ายคลึงกับมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า คือ ระยะแรก สนับสนุนให้นำเข้าด้วยการลดภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เหลือ 0 % จากปัจจุบัน 8% และมาตรการให้เงินอุดหนุนโดยตรงต่อแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าแต่ละลูก โดยแบตเตอรี่ที่สามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าได้สูง จะได้รับเงินอุดหนุนมากกว่า ที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าที่ต่ำกว่า เพื่อให้ราคาของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าต่ำลง เพื่อสร้างความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพราะราคาของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า คิดเป็นมากกว่า 50 % ของราคารถยนต์ไฟฟ้าทั้งคัน หากต้องการให้ประชาชนหันมาซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ก็ต้องปรับลดภาษีแบตเตอรี่ไฟฟ้าด้วย 

โดยผู้นำเข้าแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากรัฐนั้น  ภายใต้เงื่อนไข ต้องเข้ามาตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้า โดยในปีที่3 ของมาตรการ จะต้องผลิตแบตเตอรี่ในประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 2 เท่าของการนำเข้าที่ผ่านมา และปีที่ 4 จะต้องผลิตเพิ่มเป็น 3 เท่า 

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ เพราะหากอุตสาหกรรมแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าไม่เกิดขึ้นในประเทศหรือเกิดขึ้นช้า ไทยอาจเสียโอกาสให้กับประเทศอื่น เช่น อินโดนีเซีย เป็นต้น  ซึ่งการจะมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า จะต้องขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ  ซึ่งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาด 8 -16  กิกะวัตต์ชั่วโมง ( GWH) จะต้องมีรถยนต์ไฟฟ้า มากกว่า100,000 คันต่อปีขึ้นไป เพื่อให้คุ้มค่าต่อการลงทุน  โดยปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย มียอดจอง 37,000 คัน 

ทั้งนี้การตัดสินใจสุดท้ายอยู่ที่ คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี)   ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เป็นประธาน ว่าจะเดินหน้าส่งเสริมสนับสนุนการใช้และผลิตให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหรือไม่ เพราะหากต้องการสนับสนุน ก็ต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่ิ่อมิให้ประเทศไทยเสียโอกาส ค่ายรถยนต์ และผู้ประกอบการแบตเตอรี่ ย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดวันประชุมบอร์ดอีวี แต่อย่างใด 

สำหรับมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์อีวี ที่ครม.อนุมัติไว้เมื่อ วันที่ 15 ก.พ.2022โดยมีสาระสำคัญคือ รถยนต์อีวี  ที่มีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท  กรณีเป็นรถยนต์นำเข้าจะได้รับการลดภาษีนำเข้าสูงสุด 40 % ตั้งแต่ปี 2565-2566   ,ลดภาษีสรรพสามิต ลงเหลือ 2 % จากปกติ 8 % ตั้งแต่ปี 2565-2568  และได้รับเงินอุดหนุนราคารถยนต์อีวี จากรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2565-2568 โดยกรณีรถยนต์อีวี ที่มีแบตเตอรี่ขนาดไม่เกิน 30  กิโลวัตต์ชั่วโมง(KWH ) จะได้รับเงินอุดหนุนคันละ 70,000  บาท และรถยนต์อีวี ที่มีขนาดแบตเตอรี่ มากกว่า 30 KWH ขึ้นไป จะได้รับเงินอุดหนุนคันละ 150,000 บาท

ส่วนรถยนต์อีวี  ที่มีราคาขายมากว่า 2 -7 ล้านบาท จะได้ลดภาษีนำเข้าโดยอัตราสูงสุดไม่เกิน 20 % ตั้งแต่ปี 2565-2566 และลดภาษีสรรพสามิตลงเหลือ 2 % จากปกติ 8 % ตั้งแต่ ตั้งแต่ปี 2565-2568  ส่วนรถกระบะอีวี  ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท จะลดภาษีสรรพสามิตลงเหลือ 0 % และอุดหนุนราคารถยนต์คันละ 150,000 บาท กรณีที่ผลิตในประเทศและมีขนาดแบตเตอรี่  30 KWH ขึ้นไป ตั้งแต่ปี 2565-2568