“แบงก์กรุงไทย” ประกาศปี 63 รุกเต็มสูบธุรกิจยุคดิจิทัล ชูแอปฯ “เป๋าตัง-ถุงเงิน” เป็นเรือธง

  • โชว์ความแกร่งมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่
  • พร้อมต่อยอดปล่อยสินเชื่อให้กับคู่ค้าของลูกค้า
  • แย้มปีหน้าปิดสาขา 50-70 สาขา ยืนยันหนักแน่นไม่มีแผนปลดพนักงาน

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แผนธุรกิจในปีหน้า (2563) ยุทธศาสตร์ที่สำคัญธนาคารพร้อมแล้วที่รุกธุรกิจยุคดิจิทัล โดยใช้แอปพลิเคชัน เป๋าตัง และถุงเงิน เป็นหัวหอก พร้อมกับเปิดให้พันธมิตรเข้ามาร่วมทำธุรกิจ พร้อมทั้งมีการต่อยอดสนับสนุนสินเชื่อให้กับคู่ค้าของลูกค้าธนาคาร และล่าสุดธนาคารได้ออกภาพยนต์โฆษณาชุดเงินกำลังจะหมุนไป 2019 เพื่อยืนยันการยืนหยัดคู่คนไทย และสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินสู่ระดับฐานราก 

“ในช่วง 2-3 ปี ธนาคารได้วางรากฐานโครงสร้างการเงินผ่านระบบดิจิทัลครบวงจรเชื่อมโยงฐานราก และสังคมเมือง เร่ิมจากออกบัตรสวัสดิ์การแห่งรัฐ 14.6 ล้านคน ชิมช้อบใช้ 15 ล้านคน มาเชื่อมโยงกับร้านค้าชุมชน  ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ และโมเดิร์นเทรด ทำให้ธนาคารมีฐานข้อมูลที่ใหญ่มาก ปีหน้าธนาคารพร้อมนำข้อมูลมาต่อยอดสนับสนุนสินเชื่อให้กับคู่ค้าของลูกค้า และยังปรับลดการใช้กระดาษในองค์กรลง 50%”

ทั้งนี้ในปีหน้าธนาคารมีแผนปิดสาขาต่อเนื่องอีกประมาณ 50-70 สาขา เพื่อให้สอดคล้องกับการให้บริการลูกค้าใช้บริการดิจิทัลมากขึ้น และการปิดสาขาที่ช้ากว่าธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นๆ เนื่องจากธนาคารกรุงไทย ซึ่งฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าต่างจังหวัด และข้าราชการ ดังนั้นผลกระทบดิจิทัลเกิดขึ้นรวดเร็วในสังคมเมืองก่อนขยายวงไปยังลูกค้าในต่างหวัด 

อย่างไรก็ตามธนาคารไม่มีแผนปลดพนักงาน เพียงแต่ต้องเพิ่มทักษะ และสามารถย้าย ปรับ ข้าม สายงานที่คุ้นชินได้ หรือสามารถย้ายต่างพื้นที่ ต่างจังหวัด โดยระยะเวลา 3-4 ปี จะทำให้อัตราพนักงานจะลดลง 30% จากปัจจุบันมีพนักงานทั้งสิ้น 21,000 คน ซึ่งในแต่ละปีจะมีพนักงานที่เกษียณอายุ และเข้าร่วมโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด ที่ธนาคารเปิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว

นายผยง กล่าวอีกว่า สินเชื่อรวมของธนาคารปีหน้า ในเบื้องต้นจะเติบโต 2.7-3% ภายใต้สมมติฐานที่เศรษฐกิจขยายตัว 2.8% โดยจะเน้นขยายสินเชื่อรายย่อย ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อภาครัฐ และสินเชื่อรายใหญ่ ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอี จะเน้นการประคองตัว เอสเอ็มอีที่มีปัญหา ธนาคารพร้อมเข้าไปช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ และเน้นให้ความช่วยเหลือลูกค้า อย่างไรก็ตามพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีที่ประกอบธุรกิจเกษตร และประสบปัญหามาก่อนหน้านี้แล้ว ธนาคารได้เข้าไปช่วยเหลือลูกค้าในกลุ่มนี้มาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนหนี้ที่มิก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลในปีหน้า จะลดลงจากปีนี้ มาจากการขายหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ โดยยังตั้งเป้าหมายเอ็นพีแอลในปีหน้าต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 109,818 ล้านบาท หรือ 4.58%  ส่วนสำรองหนี้สูญในปีหน้า ยังรักษาให้อยู่ในกรอบ 120-130% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปีนี้ และ ในช่วง 9 เดือนแรกในปีนี้อยู่ที่ 128.07%