แบงก์กรุงเทพส่อง“เออีซี” ก้าวไกลอนาคตสดใส

  • เออีซีสดใสโตสวนเศรษฐกิจโลก
  • ยุคดิจิทัลหนุนการเปลี่ยนแปลง
  • แนะถ่วงดุลจีน-สหรัฐ คู่ค้าที่สำคัญ

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) กล่าวเปิดงานสัมมนาใหญ่ประจำปี AEC Business Forum 2019 ภายใต้หัวข้อ “2020: The Age of ASEAN Connectivity”ว่า ในระยะเวลาเพียง 4 ปีนับจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี   เกิดผลลัพธ์และความก้าวหน้าอย่างมหาศาลการค้าระหว่างภูมิภาคอาเซียนขยายตัวขึ้นกว่า 10% รวมถึงจีดีพีของภูมิภาคที่สามารถเติบโตได้ถึง 5.2%ในปีที่ผ่านมาด้วยมูลค่าสูงกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และกลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ประเมินว่าเศรษฐกิจของอาเซียนจะเติบโตประมาณ 4.6% ในปีนี้ และ 4.8% ในปีหน้า ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่เติบโตช้าลง ปีหน้าไอเอ็มเอฟ  ได้ปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมาอยู่ที่ 3.4% 

 “การเชื่อมต่อที่กล่าวถึงนี้อาจเป็นไปได้ในหลากหลายมิติและมีหลายปัจจัยเชิงโครงสร้างที่เป็นส่วนสนับสนุนเริ่มตั้งแต่ การเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัล  ซึ่งปัจจุบันอาเซียนมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตราว 360 ล้านคน ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่เข้าถึงถึงอินเทอร์เน็ตได้มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก”       

ทั้งนี้การขยายตัวที่รวดเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัล และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ  โดยเศรษฐกิจดิจิทัลในมาเลเซีย ไทยสิงคโปร์ และ ฟิลิปปินส์ เติบโตราว 20-30 % ต่อปี และ มากกว่า 40% ในเวียดนามและ อินโดนีเซีย ปัจจัยนี้ทำให้มีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นเกิดขึ้นในอาเซียนจำนวนมาก  

ในขณะที่ความเชื่อมโยงทางการเงินในภูมิภาคได้ก่อให้เกิดบริการใหม่ๆมากมายเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าด้านดิจิทัล เช่น Enterprise Blockchain สำหรับบริการทางการเงินเพื่อการค้าระหว่างประเทศ และ การโอนเงินระหว่างประเทศ บริการ e-wallet การนำ eKYC มาใช้ในบริการธนาคารดิจิทัล และ การชำระเงินผ่าน QR Code เป็นต้น ซึ่งบริการเหล่านี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ ลดภาระงานเอกสาร ลดข้อจำกัดด้านการค้าตลอดจนลดต้นทุนการทำธุรกรรมแบบข้ามพรมแดนลงอย่างมาก

   นอกจากนี้การขยายตัวของเขตเมือง เป็นอีกปัจจัยส่งเสริมที่สำคัญ โดยคาดการณ์ว่าจำนวนครัวเรือนที่อยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางของอาเซียน จะเพิ่มขึ้นจาก 80 ล้านครัวเรือน ไปเป็น 160 ล้านครัวเรือน ภายใน 15 ปีข้างหน้า และภายในปี 2593 ประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งจะอาศัยอยู่ในเขตเมือง สะท้อนถึงความต้องการโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนสินค้าและบริการต่างๆ ตั้งแต่การอุปโภคบริโภคไปจนถึงการบริการทางการเงินที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้นด้วย เช่นเดียวกับ การเชื่อมต่อกันเป็นภูมิภาค   ด้วยความตกลงร่วมกันที่จะเพิ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และลดข้อจำกัดด้านการค้าระหว่างกัน ตลอดจนการพัฒนาระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างกัน จะช่วยเสริมสร้างความสามารถการแข่งขันของอาเซียน   อย่างไรก็ตาม แม้อาเซียนจะเป็นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยโอกาส และแนวโน้มการเติบโตที่ดี แต่ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายอีกหลายด้านเช่นกันไม่ว่าจะเป็นการเร่งพัฒนาด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันรวมไปถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับทิศทางการเติบโตในอนาคต การพัฒนาศักยภาพแรงงานที่สอดคล้องกับความต้องการ และการส่งผ่านเทคโนโลยีไปสู่ธุรกิจระดับกลางและเล็ก

ด้านนายซ่ง เฉิง จือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Avanda Investment Management,  ที่ปรึกษาด้านการลงทุนของกระทรวงการคลังสิงคโปร์และธนาคารกลางในสิงคโปร์,นอร์เวย์ และประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศสมาชิกเออีซี ต้องถ่วงดุลให้ดีระหว่างสหรัฐฯ และจีน เนื่องจากที่ผ่านมาสิงคโปร์ถูกบังคับให้เลือกข้าง ซึ่งเชื่อว่าประเทศอาเซียนที่มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีสามารถถ่วงดุลได้  เพราะจีนและสหรัฐฯต่างเป็ตตลาดส่งออกที่สำคัญ ขณะที่เศรษฐกิจอาเซียนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก และยังมีอัตราการเติบโตสูง การบริโภคยังมีอัตราการขยายตัวสูง การลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

   “สิ่งที่ดีของอาเซียน แรงงานมีอายุน้อย ผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ การบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ในปี 2568 คนในต่างจังหวัดจะมีการเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น เกิดการขยายของชุมชนเมืองส่งผลให้มีความต้องการทีพักอาศัย อาหาร การศึกษา และบริการสุขภาพ”