“แจกเงิน-ลดภาษี-ให้กู้” สูตรสำเร็จสู้โควิดทั่วโลก

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เข้าสู่ปลายเดือนที่ 3 ท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่สูงกว่า 350,536 ราย มีผู้เสียชีวิต 15,328 ราย  โดยจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา 

เกือบทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทย กำลังเดินหน้าเข้าสู่ยกระดับการยับยั้งการแพร่ระบาด ด้วยมาตรการ “ปิดเมือง” ซึ่ง เริ่มต้นจากปิดโรงเรียน มหาวิทยาลัย ปิดสถานบริการ ห้างสรรพสินค้า สนามกีฬา และร้านอาหาร และธุรกิจที่ทำให้คนมารวมตัวกันทุกชนิด และปิดการคมนาคมระหว่างเมือง 

สุดท้าย คือ การล็อกดาวน์  ห้ามคนออกนอกเคหสถาน ซึ่งทำให้ทุกธุรกิจถูกปิดตายไปพร้อมกัน “ยอมเจ็บหนักแต่จบ” ตามโมเดลที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในจีน และเกาหลีใต้

แต่ภายใต้ การยอมเจ็บ หลายประเทศได้เข็นมาตรการทางเศรษฐกิจครั้งมโหฬาร เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจไม่ให้จมดิ่งจากการปิดอุตสาหกรรม ปิดธุรกิจ ซึ่งส่งผลให้คนจำนวนมากขาดรายได้ และคนอีกจำนวนหนึ่งตกงาน

วันนี้ เราลองหาตามหาสูตรสำเร็จของแผน หรือมาตรการรับมือโควิด-19 และกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศทั่วโลกกันว่า แต่ละประเทศใช้มาตรการอย่างไรกันบ้าง

โดยเท่าที่มีการรวบรวมตัวเลขเบื้องต้นได้ในขณะนี้  พบว่า เม็ดเงินที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศหลักๆ ของโลกรวมกันในขณะนี้ สูงกว่า 3.2  ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ คิดเป็นเงินไทยสูงถึง 102.4 ล้านล้านบาท (32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) 

ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นรัฐบาลที่ทุ่มเงินสำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากที่สุด 1 ล้านล้านเหรียญฯ หรือ 32 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินที่มากกว่างบประมาณประจำปีของสหรัฐฯ ตามมาด้วยเยอรมณี พี่ใหญ่แห่งยุโรป ที่อัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่นี้ด้วยวงเงินสูงถึง 6.08 แสนล้านเหรียญฯ  หรือ 65% ของวงเงินงบประมาณ

ตามมาด้วยจีน ที่ใช้เงินเฉียดๆ 4 แสนล้านเหรียญฯ หรือ 61 % ของงบประมาณประจำปี ในการดูแลภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่หยุดการผลิตไปกว่า 2 เดือน ขณะที่ สเปน เป็นอีกประเทศที่รัฐบาลทุ่มสุดตัวในการพยุงภาวะเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำรุนแรง โดยใช้วงเงินสูงถึง 98% ของงบประมาณประจำปีหรือมากกว่า 2.1  แสนล้านเหรียญฯ 

ขณะที่ อิตาลี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศอื่นๆในเอเชีย ได้ประกาศใช้เงินหลักหมื่นและพันล้านเหรียญเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบนี้

หลังจากเห็นวงเงินแล้ว เรามาต่อที่มาตรการหลักๆ ของแทบทุกประเทศทั่วโลกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งดูเหมือนจะก็อปปี้ สูตรสำเร็จ“ประชานิยม” โดยเลือกมาตรการที่ได้ผลที่สุด และตรงที่สุด นั่นคือ “การแจกเงิน”

โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาลสหรัฐฯ มีชื่อว่า “Families First Coronavirus Response Act” ซึ่งครอบคลุมการให้บริการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 กับประชาชนสหรัฐโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และการจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้างที่ลาป่วยจากการติดเชื้อ โดยมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 1 ล้านล้านเหรียญฯ นี้ ที่คาดว่าจะออกในเร็วๆนี้ จะมีการแจกเงินให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบรายละ 1,200 เหรียญฯ

รวมถึง มีการลดภาษีให้กับบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล  ขยายเวลาการจ่ายภาษีให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด19 โดยไม่มีบทลงโทษและดอกเบี้ยเพิ่มเติม ตั้งวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกว่า 200,000 ล้านเหรียญฯ ให้กับภาคธุรกิจ และวงเงินอีก 50,000 ล้านเหรียญฯ ให้กับเอสเอ็มอี เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่อง และลดภาระต้นทุนการเงิน

ขณะที่ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ใช้วิธีแจกเงินเช่นกัน โดยอนุมัติงบประมาณฉุกเฉิน 1.2 แสนล้านเหรียญฮ่องกง หรือ 1.54 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ  เพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งจะใช้วิธีแจกเงินให้กับชาวฮ่องกงที่อายุ 18 ปี ขึ้นไป ประมาณ 7.1 ล้านคน  คนละ 10,000 ดอลลาร์ฮ่องกง

เช่นเดียวกับ เกาหลีใต้ ที่ระบุว่า ส่วนหนึ่งของงบพิเศษมูลค่า 11.7 ล้านล้านวอน  หรือ 9.47 พันล้านเหรียญฯ ที่ได้รับอนุมัติเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะใช้ช่วยเหลือประชาชนเป็นเวลา 4 เดือน โดยรัฐบาลกรุงโซลมีแผนที่ให้เงิน 500,000 วอนให้กับ 1.17 ล้านครัวเรือน เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายฉุกเฉินในการครองชีพ โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มที่มีรายได้น้อย

ภาคธนาคารของ ประเทศจีน ได้ยกระดับการสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อรับมือกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยธนาคารพาณิชย์ระดับเมืองของจีน 134 แห่ง และธนาคารเอกชนอีก 18 แห่ง ได้ประกาศมาตรการด้านบริการทางการเงิน เพื่อช่วยให้องค์กรต่าง ๆ กลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้ง โดยสนับสนุนด้านสินเชื่อราว 2.983 แสนล้านหยวน  หรือ 4.28 หมื่นล้านเหรียญฯ แก่ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดย่อม ที่ได้รับผลกระทบอในขณะที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้ออกพันธบัตรพิเศษสำหรับองค์กรขนาดเล็กและขนาดย่อม

ขณะที่ ไต้หวัน ได้จัดสรรงบ 40,400 ล้านเหรียญไต้หวัน ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสนับสนุนช่องทางจำหน่ายสินค้า

มาถึงฝั่งยุโรป รัฐบาลอิตาลี ได้สั่งระงับการจ่ายดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ทั่วประเทศ ขณะที่ภาคธนาคารเตรียมออกมาตรการพักชำระหนี้ให้แก่ธุรกิจขนาดเล็กและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19

ขณะที่ รัฐบาลฝรั่งเศส จะให้ความช่วยเหลือแก่ภาคเอกชนสาขาการบิน การท่องเที่ยวและการค้า โดยอนุญาตให้บริษัทยกเว้นการจ่ายภาษีและค่าบริการสังคม  รวมทั้งจะมีมีการให้เงินชดเชยจากรัฐเพื่อเป็นค่าจ้างแรงงานระยะสั้น และการออกคำสั่งให้ธนาคารเพื่อการลงทุนออกสินเชื่อเร่งด่วนให้แก่ภาคธุรกิจที่ประสบกับปัญหาสภาพคล่อง

สุดท้าย มาตรการของประเทศเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ หรือประเทศอาเซียนของเรา มาเลเซีย ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 2 หมื่นล้านริงกิต  หรือ 4.7 พันล้านเหรียญฯ ทั้งการลดหย่อนภา การช่วยเหลือบริษัทในภาคธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบร วมทั้งการจัดหาเงินกู้สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเตรียมการที่จะมีการแจกเงินสดให้กับประชาชนโดยตรง

ขณะที่ เวียดนาม เตรียมงบประมาณ 27 ล้านล้านดอง  หรือ 1,160 ล้านเหรียญฯ โดยมีแผนการลดหย่อนและชะลอการจ่ายภาษี และการปรับลดค่าธรรมเนียมการเช่าที่ดิน ให้กับภาคธุรกิจ รวมทั้งได้ขอให้สถาบันการเงิน ยกเลิก ปรับ ลด หรือชะลอการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่บริษัทต่างๆ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบไปก่อน

ส่วน รัฐบาลอินโดนิเซีย ได้อนุมัติแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 22.92 ล้านล้านรูเปียห์  หรือ 1.55 พันล้านเหรียญฯ ซึ่งจะมีมาตรการลดหย่อนภาษี และการให้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ภาคธุรกิจ

ท้ายที่สุด สำหรับประเทศไทย นอกเหนือจากการให้สินเชื่อผ่อนปรน ที่ให้กับภาคธุรกิจ การให้พักหนี้ ยืดหนี้ ลดดอกเบี้ย ปรับโครงสร้างหนี้ให้กับประชาชน และธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นมาตรการชุดแรกแล้ว คาดว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จะมีการอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดที่ 2 อนุมัติแจกเงินให้กับประชาชนที่อยู่ในเงื่อนไข 4,000 บาท โดยจะจ่ายต่อเนื่องกัน 2 เดือน เดือนละ 2,000 บาท 

รวมทั้งหากต้องการสินเชื่อเพื่อใช้จ่าย สามารถกู้ได้ในวงเงิน 10,000-20,000 บาทต่อคน อัตราดอกเบี้ย 0.1% หรือ 10 บาทต่อเงินต้น 10,000 บาทต่อปี และหากยังไม่เพียงพอ รัฐบาลพร้อมอัดมาตรการชุดที่ 3 และ4 ต่อเนื่อง

ณ วันนี้ การแพร่ระบาดยังไม่มีทีท่าจะจบง่ายๆ ในขณะที่ความเสียหายทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ไม่มีใครแน่ใจได้ว่า แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเม็ดเงินที่รัฐบาลทุกประเทศสัญญาว่าจะให้เพื่อฟื้นเศรษฐกิจจะคุ้มค่า หรือได้ผลแค่ไหน …แต่ที่แน่ๆ รัฐบาลทุกประเทศคงต้องทุ่มเทเต็มที่เพื่อผ่านวิกฤตนี้ให้ได้ไปด้วยกัน