แก้อย่างไรดี ! ยิ่งผ่อนบัตรเครดิต หนี้ยิ่งท่วม

หากจะเริ่มต้นคอลัมน์ครั้งนี้ ด้วยการตั้งคำถามว่า ประโยชน์ของ “บัตรเครดิต” มีไว้เพื่ออะไร  

เชื่อว่า จนถึงวันนี้ ยังมีหลายๆ คนที่เข้าใจผิดอยู่ว่า วัตถุประสงค์เริ่มต้นของ “บัตรเครดิต” มีไว้เพื่อให้สินเชื่อ “รูดก่อนแล้วค่อยไปผ่อนที่หลัง” ทั้งๆ ที่ จริงๆ แล้ว บัตรเครดิต เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ซื้อสินค้าแทนเงินสด ไม่ใช่สินเชื่อ โดยให้เครดิตช่วงหนึ่งก่อนที่จะชำระคืน 

ดังนั้น ความคาดหวังแรกในการชำระหนี้บัตรเครดิต คือ ควรจะชำระคืนเต็มจำนวน

แต่ในชีวิตจริง หลายคนใช้บัตรเครดิตเป็น “วงเงินฉุกเฉิน” แทนเงินออมเมื่อเกิดปัญหาไม่คาดคิดขึ้น  หรือ บางคนใช้บัตเครดิตแทน “เงินในอนาคต” ที่คาดว่าจะหามาได้  และคนจำนวนนี้ ส่วนมากเลือกที่จะผ่อนชำระบัตรเครดิตขั้นต่ำ 10% ของวงเงินรวมแทนการชำระเต็มจำนวน

อย่างไรก็ดี การผ่อนชำระบัตรเครดิตในวงเงินที่ต่ำ ขณะที่ดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่สูงกว่าเงินกู้ประเภทอื่น ทำให้หนี้ของเราพอกพูนเพิ่มขึ้นๆ ผ่อนนานเท่าไรดูเหมือนว่า หนี้ไม่ยุบลงสักที

ยิิ่งในยุคเศรษฐกิจโควิด-19 รายได้ที่เคยได้รับลดน้อยลง บางคนถึงขั้นถูกเลิกจ้าง หนี้บัตรเครดิตที่เคยส่งได้ เริ่มกลายเป็นปัญหาหนักอก และแม้ว่า ทางการจะมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้โควิด-19 ระยะที่ 1 ออกมาในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ลดอัตราขั้นต่ำรายเดือนลงจาก 10% เหลือ 5 % แล้ว แต่หลายคนก็ยังไม่ไหว ไม่อยากเบี้ยวหนี้ หรือกลายเป็นหนี้เสีย แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้โควิด -19 ระยะที่ 2 ออกมา ซึ่งจะมีผลวันที่ 1 ส.ค.นี้ เรามาลองดูว่า คนที่มีหนี้บัตรเครดิตอยู่จะได้ประโยชน์เพิ่มเติมอย่างไร มีทางเลือก ทางรอด ทางออกที่จะทำให้เราลด หรือปลดหนี้บัตรเครดิต โดยไม่ต้องเป็นหนี้เสียได้หรือไม่

สำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ระยะที่ 2 นี้ ประโยชน์ที่จะได้ในภาพรวมคือ การลดเพดานดอกเบี้ยลง ซึ่งส่งผลให้ลูกหนี้บัตรทุกราย ราว 23 ล้านใบ ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยที่ลดลงจาก 18% เหลือ 16% โดยได้รับสิทธิ์โดยอัตโนมัติ ตั้งแต่วันที่ 1  ส.ค. 2563 เป็นต้นไป ขณะที่ลูกหนี้บัตรที่มีสถานะปกติ ได้รับการผ่อนปรนลดอัตราจ่ายชำระขั้นต่ำเหลือ 5% ในปี 2563 – 2564 ต่อเนื่องจากระยะที่ 1

นอกจากนั้น มาตรการระยะที่ 2 ยังให้สิทธิลูกหนี้ที่จะเปลี่ยนประเภทหนี้ จากหนี้บัตรเครดิต เป็นเงินกู้แบบมีกำหนดเวลา (term loan) ได้ในระยะเวลา 48 งวด หรือ 4 ปี  และจะได้ลดดอกเบี้ยลงเหลือไม่เกิน 12% ต่อปี จากเดิมต้องจ่าย 16% ต่อปี 

ขณะเดียวกัน หากลูกหนี้ต้องการผ่อนชำระในเวลาที่สั้นกว่า เช่น ผ่อน 24 งวด หรือ 30 งวด ก็สามารถเจรจากับผู้ให้บริการ เพื่อลดดอกเบี้ยให้ต่ำกว่า 12% ได้ หรือในทางกลับกัน หากต้องการจะผ่อนยาว เช่น 60 เดือนเพื่อให้ค่างวดในแต่ละเดือนลดต่ำลงอีก ก็ทำได้เช่นกัน โดยดอกเบี้ยไม่เกิน 12% 

ทั้งนี้ การเปลี่ยนหนี้จากสั้นเป็นยาวนี่แหละ จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เราสามารถ “ลด หรือปลด” หนี้บัตรเครดิตเที่เรา ผ่อนเท่าไรๆ ก็เหมือนหนี้ไม่ลด ไม่หมดเสียทีได้อย่างแท้จริง

โดยธปท.ได้คำนวณเเปรียบเทียบการส่งหนี้เงินต้น จำนวน 100,000 บาท ใน 2 วิธี คือ การชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตไปเรื่อยๆ จนหมด และการเปลี่ยนเป็นเงินกู้ระยะยาว 

โดยวิธีการผ่อนบัตรเครดิต เป็นการผ่อนชำระขั้นต่ำ 5% อัตราดอกเบี้ย 16% ต่อปี โดยหากเงินขั้นต่ำที่ต้องจ่ายต่ำกว่า 500 บาทต่อเดือน ให้คิดว่าผ่อน 500 บาท ส่วนเงินกู้มีกำหนดเวลา ใช้เวลาผ่อนส่ง 40 เดือน ดอกเบี้ย 12% เฉลี่ยผ่อนเดือนละ 3,000 บาท ซึ่งพบว่า

ปีที่ 1 หากจ่ายหนี้บัตรเครดิต จะต้องผ่อนเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยทั้งสิ้น 49,700 บาท แต่หากเป็นเงินกู้ 40 เดือน จะมีภาระผ่อนทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย 37,000 บาท 

ปีที่ 2 ผ่อนบัตรเครดิตทั้งสิ้น 31,512 บาท  ขณะที่เงินกู้มีกำหนดเวลาใช้เวลา 40 เดือน ผ่อนเท่ากับปีแรก คือ 37,000 บาท

ปีที่ 3 กรณีผ่อนบัตรเครดิต จะผ่อนเป็นเงินทั้งสิ้นเป็นเงิน 19,961 บาท ขณะที่เงินกู้มีกำหนดเวลาใช้เวลา 40 เดือน ผ่อนเท่าเดิม คือ 37,000 บาท

ปีที่ 4 ผ่อนบัตรเครดิต จะผ่อนเป็นเงินทั้งสิ้นเป็นเงิน 12,664 บาท (โดย 4 ปีผ่อนเงินต้นไปทั้งสิ้น 83,899 บาท)  ขณะที่ผู้ที่่ผ่อนเงินกู้แบบมีระยะเวลานั้น ในปีที่ 4 จะเหลือระยะเวลาที่ต้องผ่อนส่งหนี้อีกเพียง 4 เดือน คือ งวดที่ 37-40 โดยจ่ายเงินผ่อนชำระทั้งสิ้น 10,487 บาท แล้วหมดหนี้

ส่วนผู้ที่เลือกชำระชั้นต่ำบัตรเครดิต 5% ยังชำระไม่หมด โดยผู้ชำระบัตรเครดิตยังต้องผ่อนต่อไปอีก 3 ปี คือปีที่ 5 ปีที่ 6 และปีที่ 7 เพื่อจะผ่อนเงินต้น และดอกเบี้ยที่เหลือได้ทั้งหมดได้

ทำให้โดยสรุป จากเงินต้น 100,000 บาท หากเลือกผ่อนบัตรเครดิต จะต้องผ่อนทั้งสิ้น 84 เดือนถึงจะหมดหนี้ โดยมียอดชำระคืนหนี้ทั้งหมด 133,850 บาท เป็นการจ่ายเงินต้น 100,000 บาท และดอกเบี้ย 33,850 บาท

ส่วนเงินกู้มีกำหนดเวลา ใช้เวลาชำระหนี้ทั้งหมด 40 เดือน ชำระคืนหนี้เป็นเงินทั้งหมด 121,487 บาท แบ่งเป็นเงินต้น 100,000 บาท และดอกเบี้ย 21,487 บาท ทำให้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่ำลงกว่ากรณีผ่อนบัตรเครดิต 12,363 บาท (ตามตาราง)

และข้อดีของมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 2 อีกอย่าง คือ ไม่ว่าจะเป็นผ่อนแบบบัตรเจะครดิต หรือเงินกู้ยาว หากลูกหนี้มีเงินเพิ่มขึ้น และต้องการโปะลดยอดหนี้ ไม่เสียค่าใช้จ่ายการชำระคืนก่อนกำหนด หรือ prepayment fee นอกจากนั้น หากเลือกแปลงหนี้บัตรมาเป็นสินเชื่อกำหนดระยะเวลา  ก็ไม่ได้ทำให้ติดประวัติเสียในเครดิตบูโร อย่างที่เข้าใจกัน เพราะหากก่อนแปลงหนี้เราเป็นลูกหนี้ดี หลังแปลงหนี้ก็ยังคงสถานนะลูกหนี้ดีเหมือนเดิม และลูกหนี้ที่แปลงหนี้แล้ว ยังคงมีวงเงินบัตรเครดิตไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ แต่วงเงินบัตรจะลดลงเหลือเท่ากับวงเงินเดิมหักด้วยยอดหนี้ที่เปลี่ยนเป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลา 

เช่น หากวงเงินสูงสุดบัตรเราอยู่ที่ 50,000 บาท แปลงเป็นหนี้ยาวไป 30,000 บาท เท่ากับวงเงินบัตรเครดิตใหม่ทีเราใช้ได้จะเหลือ 20,000 บาท  ส่วนกรณีลูกหนี้ที่มีวงเงินบัตรเดิมเต็มวงเงิน ผู้ให้บริการอาจพิจารณาให้วงเงินแก่ลูกหนี้ ในจำนวนที่ไม่มากนัก เช่น 5,000 – 10,000 บาท เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าสำหรับเหตุฉุกเฉินต่างๆ 

ทั้งหมดนี้ น่าจะทำให้ให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า ทำไม่เราผ่อนหนี้บัตรเครดิตเท่าไรถึงไม่หมดเสียที และจะทำอย่างไรให้หมดได้เร็วขึ้น  ดังนั้น หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีหนี้บัตรเครดิต แล้วเริ่มผ่อนไม่ไหว ลองศึกษาทางเลือก ทางรอดเหล่านี้ดู ซึ่งอาจจะช่วยคุณได้ลดภาระการผ่อนส่งลง และพยุงชีวิตช่วงนี้ต่อไปได้ 

แต่หากคุณเข้าสู่จุดวิกฤตจรกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไปแล้ว ก็อย่าเพิ่งท้อใจ

ลองปรึกษา  “คลินิกแก้หนี้” ขึ้น ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับหนี้เอ็นพีแอลของบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งมาตรการช่วยเหลือในระยะที่ 2 มีข้อเสนอในการปรับโครงสร้างหนี้ที่ดีขึ้น เช่น ให้ผ่อนชำระยาวถึง 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 4-7% เป็นต้น 

โดยทั้งสองกรณี ทั้งลูกหนี้บัตรเครดิตที่ยังเป็นหนี้ดี หรือ หนี้เสียก็ตาม หากต้องการปรับโครงสร้างหนี้ สามารถที่จะติดต่อไปได้ที่ธนาคารเจ้าหนี้ หรือบริษัทให้สินเชื่อที่เป็นเจ้าหนี้ของคุณเอง หรือลองปรึกษา”ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน” (ศคง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย โทร 1213 ก่อนก็ได้เช่นกัน