เอไอเอส โชว์ไตรมาส 2 โกยรายได้ 45,273 ล้านบาท เพิ่ม 5.9%

  • สวนทางกำไรหด 10% อยู่ที่ 6,305 ล้านบาท
  • ผลจากการขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยนจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง
  • รายได้พิเศษครั้งเดียวที่เกิดขึ้นในไตรมาส 2 ของปีที่ผ่านมา

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS (เอไอเอส) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีแรกแม้เราจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ แต่ในภาพใหญ่สถานการณ์ทั่วโลกยังมีความน่าเป็นห่วง และต้องจับตามองใกล้ชิด โดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อ และความขัดแย้งของประเทศต่างๆ ส่งผลทำให้ต้นทุนด้านพลังงานสูงขึ้น แน่นอนว่าส่งกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในวงกว้าง ทำให้เราต้องปรับแผนการทำงานให้สอดรับกับสถานการณ์ที่มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในครึ่งปีแรกนี้ AIS สามารถทำผลงานออกมาได้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ จากตัวเลขรายได้ที่มีการเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แน่นอนว่าเรายังคงเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีให้มีความแข็งแกร่งรองรับความต้องการประยุกต์ใช้ดิจิทัลในองค์กร และสร้างประสบการณ์ที่เป็นเลิศให้แก่ลูกค้าที่กำลังเพิ่มขึ้น”

สำหรับผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 อยู่ที่ 45,273 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9% เทียบกับปีก่อน และคงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2/2565 อยู่ที่ 6,305 ล้านบาท ลดลง 10% เทียบกับปีก่อน ค่อนข้างคงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยนจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงและรายได้พิเศษครั้งเดียวที่เกิดขึ้นในไตรมาส 2 ของปีที่ผ่านมา


จากการลงทุนเพื่อพัฒนาและขยายโครงข่าย 5G และ 4G อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของการให้บริการ รวมถึงการเสริมคอนเทนต์ชั้นนำระดับโลกมาให้คนไทยได้สัมผัสกับประสบการณ์รับชมใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ ส่งผลทำให้ต้นทุนการให้บริการเพิ่มขึ้น 2.9% เทียบกับปีก่อน และ 0.4% เทียบกับไตรมาสก่อน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายการตลาดและการบริหาร โดยรวมเพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านการตลาดในการออกแคมเปญต่างๆ ตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย และค่าเสื่อม (EBITDA) สำหรับไตรมาส 2 อยู่ที่ 22,353 ล้านบาท ลดลง 2.8% จากปีก่อน และ 0.2% เทียบกับไตรมาสก่อน โดยมีผลการดำเนินงานแยกตามรายธุรกิจดังนี้

ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีรายได้เพิ่มขึ้น 0.4% เทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้น 1.3% ต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการการควบคุมโควิด-19 และการกลับมาของจำนวนนักท่องเที่ยวชาติจากการเปิดประเทศ แม้ว่าการแข่งขันด้านราคายังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 881,200 เลขหมาย ส่งผลให้ปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถือรวมที่ 45.5 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นลูกค้าระบบเติมเงิน 33.4 ล้านเลขหมาย และระบบรายเดือน 12.1 ล้านเลขหมาย ในส่วนของ 5G วันนี้ AIS มีผู้ใช้บริการ 5G รวมทั้งสิ้นมากกว่า 3.9 ล้านราย เพิ่มขึ้นกว่า 39% ทำให้ AIS ยังคงรักษาความเป็นผู้นำด้านการให้บริการด้วยการพัฒนาโครงข่าย ที่มีความครอบคลุมกว่า 99% ในกรุงเทพฯ 96% ในพื้นที่ EEC และ 81% ของพื้นที่ประชากรทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าเพิ่มความครอบคลุมและความจุโครงข่ายให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ 5G ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง    

ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่ยังคงรักษาระดับการเติบโตที่เหนืออุตสาหกรรม มีรายได้เติบโต 22% เทียบกับปีก่อน และ 2.0% จากไตรมาสก่อน จากการเพิ่มพื้นที่การให้บริการไปยังพื้นที่ใหม่ๆ รวมไปถึงการรักษาคุณภาพและความรวดเร็วของการให้บริการ AIS Fibre 24Hours และการนำเทคโนโลยี Wi-Fi อัจฉริยะ ครั้งแรกในไทยกับการนำ AI และ VIP Service มาจัดสรรการใช้งานเน็ตบ้าน ตอบโจทย์การใช้งานลูกค้าในเรื่องความแรง ลดความหน่วงต่ำ ซึ่งในไตรมาส 2/2565 มีจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นกว่า 106,300 ราย ปัจจุบัน AIS Fibre มีลูกค้ารวม 1,971,400 ราย ตั้งเป้าขยายลูกค้า 2.2 ล้านราย ภายในสิ้นปี

ธุรกิจบริการลูกค้าองค์กร รายได้มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง คิดเป็น 38% เทียบกับปีก่อน และ 5.5% จากไตรมาสก่อน โดย AIS ได้เข้าไปร่วมทำงานกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนการนำเทคโนโลยีโซลูชันเข้ามาช่วยยกระดับขีดความสามารถได้อย่างเป็นรูปธรรม

นายสมชัย กล่าวในช่วงท้ายว่า “ความท้าทายในช่วงครึ่งปีหลังยังมีหลายปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญ ทั้งความเคลื่อนไหวของการเมืองระดับประเทศที่กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้ หรือแม้แต่ความรุนแรงของการแข่งขันที่จะมีเพิ่มสูงขึ้น แต่แน่นอนว่าเรายังคงลงทุนอย่างต่อเนื่องด้วยงบกว่า 30,000 ล้านบาทในปีนี้ เพื่อทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีมีความแข็งแรงพร้อมต่อการเติบโตในอนาคตที่จะเป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อน Digital Economy รองรับบริการครอบคลุมการใช้งานทุกรูปแบบทั้งกลุ่มลูกค้าทั่วไปและลูกค้าองค์กรในภาคธุรกิจ ที่สอดรับกับเป้าหมายการเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมอัจฉริยะหรือ Cognitive Tech-Co ที่มุ่งแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับลูกค้า สามารถสร้างบริการแบบ Personalization