เอาให้ชัด! บอร์ดยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ จ่อนัดทุกฝ่ายเกี่ยวข้อง สางปมแผนผลิตรถอีวีในไทย

  • “กฟผ.” ผนึก 6 ค่ายรถคิกออฟเปิดตัวธุรกิจอีวี
  • รุก 4 ผลิตภัณฑ์และบริการ
  • ปักหมุดลุยเชิงพาณิชย์ไตรมาส 2-3 นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ได้เปิดตัวธุรกิจ EGAT EV Business Solutions ภายใต้ชื่องาน The Next Future Journey EGAT EV  Business Solutions”  พร้อมลงนามความร่วมมือ EV Charging Station & Platform co creation for Electric Vehicles Project ระหว่าง กฟผ. และพันธมิตรจาก 6 บริษัทรถยนต์ชั้นนำ ได้แก่ Audi, BMW, Mercedes-Benz, MG, Nissan และ Porsche เพื่อให้ความร่วมมือกันในด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้า Application เชื่อมโยงข้อมูล และการส่งเสริมการขาย    

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานและ ประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(บอร์ดกฟผ.)   เปิดเผยว่า  รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) จะเป็นเทรนด์ของโลกโดยคาดการณ์ว่าปี 2568 ราคารถอีวีจะเท่ากับรถยนต์สันดาปและในปี 2583จำนวนอีวีจะมีมากกว่ารถยนต์สันดาป เพื่อตอบโจทย์การก้าวสู่การปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์เป็นศูนย์(Carbon neutrality) ซึ่งบทบาทของประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมอีวี โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ(บอร์ดอีวี) ในเดือนมี.ค.นี้ เพื่อกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนที่ชัดเจนมากขึ้นอีกครั้ง  

กุลิศ สมบัติศิริ

 ” เดิมบอร์ดอีวีได้กำหนดเป้าหมยปี 2573 จะมีการผลิตรถอีวี 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดหรือ 750,000 คัน ซึ่งการประชุมบอร์ดอีวีในเดือนมี.ค.นี้ ก็จะต้องมาดูว่าเราจะมีการปรับตัวเลขหรือไม่อย่างไร ส่วนกรณีที่เอกชนเสนอให้เป็น 50% ก็อาจจะมีความเป็นไปได้เพราะขณะนี้รถอีวี ก็เริ่มได้รับความนิยม”

สำหรับบทบาทของกฟผ. และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.)เมื่อวันที่  10 มี.ค.ที่ผ่านมาได้อนุมัติให้จัดตั้งบริษัท  Egat Innovation Holdings ที่ มี กฟผ.ถือหุ้น 40%, บริษัท ราช กรุ๊ป  ถือหุ้น 30% และบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด ถือหุ้น 30% เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจอีวี ,แบตเตอรี่, เทคโนโลยี5G  ,เทรดดิ้งไฟฟ้าซึ่งพร้อมจะเปิดให้พันธมิตรต่างๆเข้ามาร่วมดำเนินการ  

 นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่ากฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ได้เปิดตัวธุรกิจใหม่ “EGAT EV Business Solutions” ที่ ประกอบด้วย 4 ผลิตภัณฑ์และบริการ ได้แก่ 1. สถานีอัดประจุไฟฟ้า “EleX by EGAT” ที่ชาร์จไฟได้รวดเร็วซึ่งกฟผ.ติดตั้งไปแล้ว 13 สถานี และตั้งเป้าหมายที่จะติดตั้งเพิ่มเป็น 48 สถานี ในปีนี้ โดยเน้นขยายสถานีไปตามเส้นทางการเดินทางหลักทั่วประเทศ    2. Mobile Application Platform “EleXA”   ที่เป็นแอพลิเคชั่นช่วยผู้ใช้รถ อีวี ตั้งแต่การค้นหา จอง ชาร์จ และจ่ายเงิน ซึ่งกฟผ.มุ่งพัฒนาให้เชื่อมโยง ทั้งลูกค้า ร้านค้า ผู้ประกอบการ และผู้ให้บริการต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้สถานีของ กฟผ.  ซึ่งทั้งสถานีชาร์จฯ และแอพลิเคชั่นจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส2

3. ตู้อัดประจุไฟฟ้า “EGAT Wallbox และ EGAT DC Quick Charger” เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกแก่ผู้ใช้งานรถ EV โดย EGAT Wallbox เป็น Home Charger ที่เล็กกะทัดรัด สวยงาม โดย กฟผ. ได้รับสิทธิ์ในการจำหน่ายเพียงรายเดียวในประเทศไทย ปัจจุบัน กฟผ. ได้พัฒนาตู้อัดประจุไฟฟ้า EGAT DC Quick Charger ขนาด 120 kW ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าได้ โดย กฟผ. จะนำผลิตภัณฑ์นี้ออกใช้งานในเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 3 และ  4.ระบบบริหารจัดการเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า “BackEN หรือ Backend EGAT Network Operator Platform” ที่จะเชื่อมโยงระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด   เข้าด้วยกันที่พร้อมให้บริการตลอด 24 ชม.ทั้งหมดนี้  พร้อมให้บริการประชาชนทุกคนในปี  นี้

นายวฤต รัตนชื่น ผู้อำนวยการฝ่ายแผนยุทธศาสตร์ กฟผ.กล่าวว่า ค่าบริการชาร์จไฟรถอีวีที่ กฟผ.ได้ร่วมกับเอกชนเฉลี่ยอยู่ที่ 7 บาทต่อหน่วยหรือ1.30บาทต่อกิโลเมตร(กม.) โดยขณะนี้กำลังพิจารณาจะจัดโปรโมชั่นในเดือนเม.ย.นี้ เพื่อทำให้ราคาค่าบริการชาร์จไฟสำหรับรถอีวีไม่เกิน 1 บาทต่อกม.



#The Journalist Club #JNC