เอกชน จ่อถกปมต้นทุนการผลิตพุ่ง เหตุรัฐเลิกตรึงราคาดีเซล

  • “เกรียงไกร เธียรนุกุล” แถลงวิสัยทัศน์ประธาน ส.อ.ท.คนใหม่
  • สานต่อนโยบายกรรมการชุดเดิม
  • สร้างความแข็งแกร่งอุตสาหกรรมไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คนใหม่  พร้อมคณะกรรมการส.อ.ท.​ได้แถลงนโยบายการบริหารงาน โดยดำเนินการต่อเนื่องของกรรมการชุดเดิม ภายใต้ ชูวิสัยทัศน์ One Vision, One Goal and OneTeam เชื่อมโยงบุคลากรภายใน และประสานองค์กรภายนอก

นายเกรียงไกร กล่าวว่า  สิ่งที่จะต้องทำทันที คือ การสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทย ให้ประเทศไทยแข็งแกร่งกว่าเดิม ทั้งการช่วยเหลือ เอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบหนักให้ฟื้นตัว โดยเฉพาะเรื่องการเงิน ผลักดันให้เอสเอ็มอีทั่วประเทศเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงการหาตลาดให้เอสเอ็มอี ช่วยทำตลาด ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ในส่วนของการสร้างความเข็มแข็งที่สามารถทำได้เลย คือ โครงการ 1 จังหวัด 1 อุตสาหกรรม โดยทาง ส.อ.ท. แต่ละจังหวัดจะไปหารือกับทางจังหวัด แล้วกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายในการพัฒนา 

ทั้งนี้ ส.อ.ท.จะดึงศักยภาพของ 45 กลุ่มอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมยกระดับและพัฒนา รวมถึงมุ่งพัฒนาโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture Industry) หรือ SAI ที่จะนำร่อง SAI In The City ที่กทม.โดยเน้นการทำ Plant Based ซึ่งเป็นอาหารที่จะทำจากพืชเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ โดยโครงการนี้จะสอดรับกับนโยบาย BCG โมเดล แต่ภาคอุตสาหกรรมไทยยังเผชิญความเสี่ยงหลายด้านโดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและชิ้นส่วน จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านห่วงโซ่การผลิต ส.อ.ท.กำลังจะช่วยผู้ประกอบการ เรื่องซัพพลายเชน โดยการผลิตชิ้นส่วนในประเทศ เพื่อให้พึ่งพาต่างประเทศให้น้อยที่สุด สำหรับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตจะเป็นเรื่องของ S-Curve industries , BCG และ Climate Change

อย่างไรก็ตามสิ่งที่กังวลขณะนี้คือราคาน้ำมันดีเซล ที่กำลังจะสูงขึ้น หลังครบกำหนดมาตรการตรึงราคาลิตรละ 30 บาท และการลดภาษีสรรพสามิต ลิตรละ 3 บาทนั้น ในเดือน พ.ค. ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันขึ้นแน่นอน และจะมีผลกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้า ทำให้ต้นทุนการผลิตพุ่งสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อระดับราคาสินค้าที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอีก และจะส่งผลต่อภาวะอัตราเงินเฟ้อทั่วไปให้สูงขึ้นอีก ดังนั้นในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) เดือน พ.ค.นี้ จะมีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวหารือร่วมกันด้วย

ส่วนราคาสินค้ามีปรับขึ้นมาแล้วบางรายการ ทั้งนี้ขึ้นกับสตอกของแต่ละแห่ง ซึ่งยอมรับว่าตอนนี้ สตอกเก่าเริ่มหมด สต๊อกใหม่ต้นทุนก็สูงขึ้น สินค้าจึงต้องปรับขึ้น แต่จะขึ้นมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับแต่ละอุตสาหกรรม จึงมองว่าหากดีเซลจะขยับก็ขออย่าขยับแรงจนช็อก ขอให้ขึ้นเป็นขั้นบันได

“เอกชน เชื่อการเปิดประเทศจะทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยมากขึ้น ซึ่งจะสร้างรายได้ เกิดการจ้างงาน เกิดเงินหมุนเวียน ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น นายเกรียงไกร กล่าวว่า การพิจารณาขอให้เป็นไปตามขั้นตอนของคณะกรรมการไตรภาคี ไม่ควรให้เป็นเรื่องการเมือง เช่น ควรพิจารณาจากทักษะของแรงงาน เพราะนายจ้างยินดีที่จะจ่ายแพงหน่อย หากทำงานได้”