เอกชนชี้เศรษฐกิจไทยรับอานิสงส์เจ้าภาพเอเปก

.สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ 5-6 แสนล้านใน 3-5 ปี
.ชี้ในระยะสั้น ท่องเที่ยวได้ประโยชน์มากสุด
.ส่วนระยะยาว สมาชิกเตรียมหอบเงินลงทุนไทย

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยถึงการประชุม APEC CEO Summit 2022 การประชุมคู่ขนานกับการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 29 เมื่อเดือนพ.ย. 65 ที่กรุงเทพฯว่า จากการเป็นเจาภาพจัดการประชุมดังกล่าว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินว่า จะเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในช่วง 3-5 ปีข้างหน้ารวมทั้งสิ้น 500,000-600,000 ล้านบาท โดยประโยชน์ระยะสั้น (ภายใน 3-6 เดือน) จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ Soft Power และความเข้าใจต่อไทยผ่านการประชาสัมพันธ์ อาหาร และวัฒนธรรมไทยที่ได้นำเสนอผ่านการประชุมและงานเลี้ยงรับรองต่างๆ


โดยจะช่วยสร้างประโยชน์ 2 ด้านคือ ส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยน่าจะช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น 100,000-200,000 คน สร้างรายได้ถึงประมาณ 10,000 ล้านบาท และสร้างการรับรู้ ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ (เอฟดีไอ) ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจี) ในสาขาพลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้า เศรษฐกิจดิจิทัล และอุตสาหกรรมภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว และธุรกิจบริการสุขภาพ เป็นต้น โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)


ขณะที่ประโยชน์ระยะยาว (ภายใน 3-5 ปี) คาดว่า จะสร้างการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ มูลค่าประมาณ 600,000 ล้านบาท ภายใน 3-5 ปี โดยเฉพาะการค้าและการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างไทยกับจีน เพราะในช่วงการประชุมเอเปก ผู้นำของไทยและจีนได้เจรจาสองฝ่าย และเห็นพ้องที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน คาดว่า การค้า การลงทุนระหว่างกัน จะเพิ่มขึ้นประมาณ 100,000-200,000 แสนล้านบาท


นอกจากนี้ ยังมีการค้าและการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย และกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (จีซีซี) 6 ประเทศ คือ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต การ์ตา โอมาน บาเรน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คาดจะมีมูลค่าโดยรวม 100,000-300,000 ล้านบาท


รวมถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และพลังงานทดแทน จากประเทศอื่น นอกจากจีนและซาอุดิอาระเบีย 50,000 – 100,000 ล้านบาท, การลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัล อี-คอมเมิร์ซ และหุ่นยนต์ จากสมาชิกรายอื่น 50,000 – 100,000 ล้านบาท, การลงทุนในธุรกิจบริการอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยว การบริการสุขภาพและความงาม และโลจิสติกส์ ที่มาจากสมาชิกอื่น 50,000 – 100,000 ล้านบาท


“การเป็นเจ้าภาพเอเปกครั้งนี้ สร้างโอกาสและเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยมาก โอกาสในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยเปิดแล้ว ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวก็ได้รับอานิสงส์ไปด้วย เชื่อว่าในปี 66 จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มมากขึ้นกว่าปีนี้เป็นเท่าตัว ซึ่งจะทำให้ภาคท่องเที่ยวและบริการของไทยฟื้นตัวขึ้นอย่างโดดเด่น ดังนั้น อยู่ที่เราทุกคนว่าจะใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใด”