“เศรษฐา” บิ๊กบอสแสนสิริ แนะรัฐยกเลิก LTV-ลดดอกเบี้ย ออกมาตรหนุนภาคอสังหาฯ เชื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อกลับมาได้

  • ลั่นพร้อมเข้าซื้อโครงการและที่ดินจากผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก
  • มีแผนเปิดตัวโครงการใหม่ 24 โครงการมูลค่า 26,000 ล้านบาท
  • ตั้งเป้าปี 64 ยอดขาย 26,000 ล้านบาท ยอดโอน 27,000 ล้านบาท

นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) แถลงถึงแผนการดำเนินงานในปี 2564 ว่าปีนี้เป็นปีแห่งความหวัง “Year of Hope” โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบเป็นหลัก โดยเน้นโครงการที่มีระดับราคาที่เข้าถึงได้ (Affordable price) และพัฒนาเป็นโครงการขนาดเล็ก เพื่อที่จะได้ปิดการขายและโอนได้เร็ว โดยมีแผนที่จะเปิดตัวโครงการใหม่ 24 โครงการมูลค่า 26,000 ล้านบาท โดยเน้นสินค้าแนวราบเป็นหลัก 

โดยตั้งเป้ายอดขายที่ 26,000 ล้านบาท และยอดโอนที่ 27,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่บริษัท เปิดตัว 12 โครงการ มูลค่า 15,000 ล้านบาท แบ่งเป็นแนวราบ 11 โครงการและคอนโดมิเนียม 1 โครงการ ในขณะที่ยอดขายในปี 2563 อยู่ที่ 35,000 ล้านบาท และยอดโอนที่ทำได้สูงสุดที่ 45,000 ล้านบาท โดยสัดส่วน 57% ของยอดโอนมาจากคอนโดมิเนียมที่เหลือ 43% มาจากแนวราบ

ทั้งนี้ไฮไลท์ที่ต้องจับตาในปี 2564 นี้ คือแสนสิริมีแผนเปิดตัวสินค้าประเภทคอนโดมิเนียมในราคาที่จับต้องได้ 1 ล้านบาทเศษไปจนถึง 2 ล้านกว่าบาท ภายใต้แบรนด์ใหม่ เน้นเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังสร้างตัว โดยสินค้าคอนโดมิเนียมราคาระดับนี้ บริษัทไม่ได้พัฒนาออกมาแล้วเกือบ 10 ปี โดยปี 2564 เล็งเปิดทั้งสิ้น 4 โครง ในย่านรัชดา, เกษตรฯ, รามคำแหง และ บางนา

“อสังหาฯ ปีนี้ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากความผันผวนของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ รายกลางและเล็กอาจจะต้องเผชิญกับปัญหาจำเป็นต้องขายโครงการหรือขายที่ดินที่ถืออยู่ออกมาเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ซึ่ง “แสนสิริ” มีความพร้อมที่จะเข้าไปซื้อเพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา โดยบริษัทตั้งงบประมาณสำหรับการลงทุนเพื่อซื้อที่ดินรวมถึงเข้าไปลงทุน หรือซื้อโครงการจากผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กประมาณ  7,000 ล้านบาท” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวด้วยว่า จากการที่แนวโน้มเศรษฐกิจของปีนี้ ยังมีความไม่แน่อนสูง ตนคิดว่า รัฐบาลยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการเข้ามาช่วยกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่ส่งผลกระตุ้นต่อภาคธุรกิจต่อเนื่อง ทั้งภาคการก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น อาทิ มาตรการเรื่องค่าธรรมเนียมการโอนการจดจำนอง รวมถึงมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อต่อมูลค่าของสินทรัพย์ หรือ Loan to Value : LTV ที่มองว่าควรประกาศเลิกใช้ เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันการเก็งกำไรไม่มีในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการนี้ และที่สำคัญควรมีการลดดอกเบี้ยลงอีก จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ และเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นเศรษฐกิจได้แน่นอน