เศรษฐกิจ-คอร์รัปชัน ปัจจัยไปต่อของนายกฯ

“การเมือง”กับ”เศรษฐกิจ” มีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างแยกไม่ออก การเมืองที่มีเสถียรภาพ เป็นที่ยอมรับของประชาชน จะเป็นปัจจัยสำคัญ ที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

​หลังจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 ภาคประชาชน และภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ ต่างเฝ้ามองกันว่า “ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล” จะมีหน้าตา มีคุณสมบัติอย่างไร มีความพร้อมมากน้อยเพียงใด ที่จะเข้ามาบริหารภาคเศรษฐกิจให้เติบโตยั่งยืน สร้างความเชื่อมั่น สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ เพิ่มรายได้แก่ประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของคนไทย

​นอกจากเรื่องบุคลากรที่จะเข้ามาเป็นทีมเศรษฐกิจแล้ว สถานการณ์หลังการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ยังคงมีความท้าทายอีก 2 เรื่อง ที่นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ไม่อาจมองข้ามไปได้ คือ “เอกภาพของทีมเศรษฐกิจ” 

​หลายฝ่ายต่างคาดหมายกันว่า รัฐมนตรีที่จะมาดำรงตำแหน่งในกระทรวงเศรษฐกิจ มาจากหลายพรรคการเมือง ซึ่งก็หมายความว่า โอกาสที่เกิดปัญหาเรื่องเอกภาพในการทำงานร่วมกันย่อมเกิดขึ้นแน่นอน รวมทั้งการบูรณาการงานระหว่างกระทรวงในนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลก็อาจไม่ราบรื่นเท่าที่ควร 

​อีกประเด็นคือ ความโปร่งใสของทีมเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องเผชิญกับการตรวจสอบการทำงานจากฝ่ายค้านอย่างเข้มข้น 

​ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีพบว่า มีการทุจริตคอร์รัปชันในกระทรวงเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีจะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งทันที ไม่อาจปล่อยปะละเลยไปได้ 

​ในอีกด้านหนึ่ง หากมีการปลดรัฐมนตรีที่มีข้อครหาว่าคอร์รัปชัน อาจทำให้พรรคการเมืองที่รัฐมนตรีท่านนั้นสังกัดอยู่ ถอนตัวออกจากรัฐบาล จนรัฐบาลมีเพียงในสภาผู้แทนราษฎรน้อยกว่ากึ่งหนึ่งก็เป็นไปได้เช่นกัน

วันนี้ลำพังเป็นรัฐบาลมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรปริ่มน้ำ ก็ยากที่จะเกิดเสถียรภาพทางการเมืองอยู่แล้ว นายกรัฐมนตรียังต้องเผชิญกับการบริหารกลุ่มการเมืองอีก 

​ที่แน่นอน จากนี้ไปการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรี จะไม่ราบรื่นเหมือน 5 ปีที่ผ่านมา ที่มีทั้งกฎหมายพิเศษ และไม่มีฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 

​ผมกำลังคิดแทนนายกรัฐมนตรีอยู่ว่า จะทำอย่างไร ถ้าการเมืองต้องบริหาร เศรษฐกิจต้องดี คอร์รัปชันในรัฐบาลต้องไม่มี บอกได้คำเดียวว่า “เหนื่อย” กับการหาทางออกที่ตีบตัน แม้กระทั่งการปรับคณะรัฐมนตรี หรือยุบสภาก็อาจไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น 

นายกรัฐมนตรีคงต้องนำศาสตร์และศิลป์ที่เหนือชั้นกว่าเมื่อ ปีที่แล้วมาปรับใช้ เพื่อให้รัฐบาลมีอายุนานพอที่จะขับเคลื่อนทั้งเศรษฐกิจและการเมืองให้ไปต่อได้ ตามเป้าหมายครับ