เศรษฐกิจ…คิดง่ายๆ เศรษฐกิจวันนี้ VS วิกฤตต้มยำกุ้ง

ครั้งแรกของ “เศรษฐกิจ..คิดง่ายๆ คุยกันสบายๆ ถึงประเด็นเศรษฐกิจ ที่กำลังเป็นที่สนใจ หรือประเด็นเศรษฐกิจ ที่ทำให้เกิดความสงสัยใคร่รู้ของหลายๆ คน เปิดประเด็นครั้งแรกวันนี้ เรามาพูดถึง “จุดตกต่ำ” หรือช่วง “วิกฤต” ของเศรษฐกิจไทยกัน โดยหากพูดว่า ปี 2563 ซึ่งกำลังเข้าสู่เดือนที่ 3 เป็นปีที่มาพร้อมกับ “เศรษฐกิจที่ตกต่ำ” ทุกคนคงพยักหน้า แต่จะ “ต่ำเตื้ย” ลงไปรุนแรงแค่ไหน คงเป็นคำถามที่ใครๆ อยากรู้ หลายคนมองย้อนไปช่วง 20 กว่าปีที่แล้ว ในช่วง “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ซึ่งตอนนั้น ประเทศไทยอยู่ในสภาวะล้มละลาย โดยมีคำถามในใจว่า “วันนี้กับเมื่อปี 2540” สถานการณ์ต่างกันแค่ไหน และเศรษฐกิจวันนี้ เข้าสู่ “วิกฤต” ครั้งใหม่แล้วหรือยัง

จริงๆ แล้ว ปีนี้ กับปี 2540 นั้น จะเทียบกับแบบช็อต ต่อช็อต คงจะไม่ได้ เพราะสถานการณ์กลับตาลปัตรกันคนละด้าน“ความเสียหาย” ในปี 2540 อาจจะรวดเร็วและรุนแรงมากกว่า แต่ พิษของเศรษฐกิจตกต่ำวันนี้ก็สร้าง “ความเจ็บปวด” ต่อเศรษฐกิจไทยไม่แตกต่างกัน เพราะเป็นแบบ “ซึมลึก” ทำลายถึงรากฐานของเศรษฐกิจไทย

ย้อนกลับไปที่ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” วิกฤตเศรษฐกิจจากเอเชียครั้งแรก ที่สะเทือนไปทั่วโลก เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าเป็นความอ่อนแอภายใน ที่เกิดจากการเก็งกำไรในสินทรัพย์ทุกประเภท โดยเฉพาะราคาอสังหาริมทรัพย์ ของคนไทยทั้งแต่ระดับฐานรากไปจนถึงนักธุรกิจ โยงไปถึงความล้มเหลวของธรรมาภิบาลของสถาบันการเงิน เกิดเคสการให้สินเชื่อชนิดสุดหละหลวมจากเจตนาฉ้อโกงของผู้บริหาร จำนวนมหาศาล

ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่แทบทุกแห่งในประเทศไทยเอ็นจอยกับการกู้เงินจากต่างประเทศระยะสั้นๆ ดอกเบี้ยถูก ๆ เข้ามาลงทุน และมีบริษัทจำนวนมากที่เมื่อได้เงินมาง่ายๆ ก็ไปลงทุนเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ หรือธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก ไม่ได้มีความรู้

แต่ส่วนที่ร้ายแรงที่สุด มาจาการถูกโจมตีค่าเงินบาทจากต่างชาติ และแบงก์ชาติของไทยพ่ายแพ้หมดรูป วันที่ 2 ก.ค.แบงก์ชาติ ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท จากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่ 25.28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาต่ำสุดของเงินบาทร่วงลงไปที่ 52 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ส่งผลให้บริษัทขนาดใหญ่จำนวนมากกระอักยอดหนี้ต่างประเทศ ที่เมื่อคิดเป็นเงินไทยแล้วเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายคืนเจ้าหนี้ได้ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 50% ของสินเชื่อที่ปล่อยไป ส่งผลให้มีบริษัทขนาดใหญ่จำนวนหนึ่งปิดกิจการ รวมทั้งธนาคารพาณิชย์จำนวนหนึ่ง และบริษัทเงินทุนอีก 56 บริษัทถูกควบคุมกิจการ ทำให้เกิดคนตกงานจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคสถาบันการเงิน เศรษฐีกลายเป็นยากจก จำนวนมากโดยเฉพาะในตลาดหุ้น และวงการอสังหาริมทรัพย์

กูรูเศรษฐกิจท่านหนึ่งในแวดวงสถาบันการเงิน บอกไว้ว่า “ช็อกที่เกิดกับเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2540 นั้น เป็นแบบ “หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน” มาเร็วมาแรง แต่มีข้อดีตรงที่ยังมีจังหวะให้ปั้มหัวใจขึ้นมาได้ เพราะการอ่อนค่าของเงินบาทลงทันทีเท่าตัวนั้น ทำให้ราคาสินค้าส่งออก และราคาการท่องเที่ยวของไทย ถูกลงแบบมีนัยสำคัญ และอีกข้อดี คือในขณะนั้น เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยไม่ได้เกิดวิฤตด้วย ดังนั้น เมื่อสินค้าเราราคาถูกลงมาก ออเดอร์สินค้า จึงหลั่งไหลเข้ามายังผู้ส่งออกไทย นักท่องเที่ยวจำนวนมากหันมาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น ทำให้คนส่วนใหญ่ในประเทศยังมีรายได้ และหลังจากที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำสุดในปี 2540 ติดลบ 10.4% ในปี 2541 ตัวเลขการขยายตัวกลับมาเป็นบวก 1.4% และดีขึ้นๆ ต่อเนื่อง และหากถามว่าใครถูกระทบรุนแรงสุดในปี 2540 กูรูของเราให้นิยามว่า เป็นวิกฤตคนรวย ในขณะที่คนรากหญ้าได้รับผลกระทบไม่รุนแรงนัก

ส่วน “เศรษฐกิจวันนี้” เป็นอย่างไร
พิษสงของปัจจัยลบของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นต้นเหตุของ “สถานการณ์ยากลำบาก” ในวันนี้กลับทิศกับปี 2540 เพราะถ้าวันนี้เราเรียกมันว่า “วิกฤต” วิกฤตวันนี้เกิดกับคนจน และคนชั้นกลางล่าง รวมทั้งเอสเอ็มอี ซึ่งทั้งหมดนี้เป็น “เป็นรากฐานและกระดูกสันหลัง” ของประเทศไทย

ในก่อนช่วงปี 2540 อยู่ในภาวะ “เงินล้นประเทศ” แบงก์แข่งกันปล่อยเงิน คนมีเงินเอาไปเก็งกำไร จนของแพงเกินจริง แต่วันนี้ เรากำลังเจอภาวะเงินฝืด คนมีเงินไม่อยากใช้เงิน อยากถือเงินสดไว้ เพราะไม่แน่ใจในอนาคต ขณะที่คนอีกฝั่งไม่มีเงินเพียงพอ แม้จะซื้อของจำเป็น

รายได้ลดลง หรือเท่าเดิม แต่ค่าครองชีพแพงขึ้นเรื่อยๆ สถานการณ์นี้เกิดขึ้นต่อเนื่องมาใกล้จะสิบปี ทั้งจากผลของความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งการเล่นการเมืองบนถนน รวมทั้งการปฏิวัติรัฐประหาร ส่งผลให้ต่างประเทศไม่เชื่อมั่น เมื่อรวมกับภัยแล้ง น้ำท่วมที่เกิดขึ้นซ้ำซาก และบางปีส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมให้ขาดแคลนน้ำ บางทีนิคมอุตสาหกรรมเสี่ยงน้ำท่วม ขณะที่ค่าไฟฟ้าก็ราคาแพง ทำให้ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราไม่มีการลงทุนใหญ่ๆ ลงทุนที่ยกระดับเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกหันไปลงทุนที่อื่น เช่น เวียดนาม จีนและอินโดนิเซีย

ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำต่อเนื่องมาหลายปี ขณะที่ธุรกิจในประเทศ ไม่ลงทุนปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต ซ้ำเติมด้วยปัญหาดิจิทัล ดิสรัปชั่น ขณะที่รัฐไม่มีมาตรการระยะยาวเพื่อปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ งบประมาณล่าช้า ไม่มีเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และล่าสุดผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

เหตุการณ์ทั้งหมดที่กระหน่ำต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจไทยเหมือนคนโดนพิษสะสม ติดเชื้อซ้ำๆ จนอวัยวะภายในทำงานได้น้อยลง และอวัยวะภายในที่ถูกกระทบแรงที่สุด คือ คนชั้นกลางลงไป รวมทั้งเอสเอ็มอีที่ถูกกระทบอย่างหนัก
“รายได้ลด พยายามลดการใช้จ่าย ส่งหนี้ไม่ได้ กลายเป็นหนี้เสีย แบงก์ไม่ปล่อยเงิน” กลายเป็นวัฎจักรซ้ำๆ จนบางครัวเรือนต้องกันไปก่อหนี้นอกระบบ ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ตามมาในอนาคต ขณะที่เอสเอ็มอี จำนวนมากขายของได้น้อยลงมาก และจำนวนหนึ่งปิดกิจการไปแล้ว

หากถามนายแบงก์ในขณะนี้ว่า “กลัวหนี้เสียหรือไม่” คำตอบคือ “กลัว” โดยในขณะนี้เร่งปรับโครงสร้างหนี้ของคนธรรมดาและเอสเอ็มอีจำนวนมาก เพราะเห็นแล้วว่า มีคนไทยจำนวนมากเริ่มมีปัญหาในการส่งหนี้ ขณะที่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจจะกระทบให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของไทยลดลง 1-1.5% ในปีนี้ โดยในกรณีเลวร้ายมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตได้ไม่ถึง 1%

ในที่สุด จะกระทบต่อบริษัทขนาดใหญ่ของประเทศ ส่งผลให้ให้มีการปลดคนงานจำนวนมากอีกหลายระลอดในอนาคตสถานการณ์วันนี้ จึงเรียกได้ “วิกฤต” ไม่แพ้ปี 2540 แม้ภาพความเลวร้ายที่เห็นยังไม่ได้ชัดเจนเท่าก็ตาม!!