เล็งชง”สมคิด”เคาะ3แนวทางแก้ราคามะพร้าวตกต่ำ

  • ขออนุญาตขนย้ายในพื้นที่8จังหวัดชายแดน
  • ใครขออนุญาตนำเข้าต้องมีใบรง.4-รง.5ยืนยัน
  • พร้อมคุมเข้มลักลอบนำเข้าต้นเหตุฉุดราคาดิ่ง

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมแก้ปัญหามะพร้าวราคาตกต่ำ ร่วมกับหน่วยงานรัฐ เอกชน และเกษตรกร ว่า ที่ประชุมมีข้อเสนอวิธีบริหารจัดการมะพร้าวในภาวะราคาตกต่ำ ได้แก่ 1.การขนย้ายมะพร้าวนำเข้าและมะพร้าวผลิตในประเทศสำหรับมะพร้าวผลแก่ตั้งแต่ 7,000 กิโลกรัม (กก.) ขึ้นไป เนื้อมะพร้าวขาวตั้งแต่ 2,500 กก.ขึ้นไป เนื้อมะพร้าวแห่งตั้งแต่ 1,500 กก.ขึ้นไป ต้องมีใบอนุญาตการขนย้ายจากแหล่งที่มาและปลายทาง เน้นใน 8 จังหวัดติดชายแดน

2.ควบคุมพื้นที่การกะเทาะเนื้อมะพร้าว โดยทุกโรงงานต้องกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจน 3. ผู้นำเข้าและผู้ประกอบการผลิตสินค้าที่ใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบ ต้องแสดงใบอนุญาตจัดตั้งโรงงาน (รง.4) และใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.5) โดยจะนำข้อเสนอดังกล่าวเสนอที่ประชุมอนุกรรมการมะพร้าว ที่มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน คาดว่า จะมีการประชุมต้นเดือนก.ย.นี้ ก่อนนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาต่อไป

“เกษตรกรกังวลการนำเข้าว่าจะเป็นทำให้ราคามะพร้าวในประเทศตกต่ำ ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลการนำเข้ามะพร้าวช่วง 7เดือนของปีนี้ ในกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ภาษีนำเข้า 0% ปีนี้ยังไม่มีการนำเข้าเลย แต่การนำเข้าภายใต้องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) นอกโควต้า ที่เสียภาษีนำเข้า 54% นำเข้าแล้ว 52,605 ตัน ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การนำเข้ามะพร้าวใน 2 กรอบลดลงต่อเนื่อง จึงขอให้รัฐเข้มงวดตรวจสอบการลักลอบนำเข้า ที่อาจเป็นสาเหตุให้ราคาตกต่ำ เพราะราคามะพร้าวจากต่างประเทศต่ำกว่าไทยถึงผลละ 2 บาท ส่วนผลผลิตมะพร้าวของไทยปี 62 มีปริมาณ 874,000 ตัน เพิ่มขึ้น 2.51% จากปี 61 ขณะที่ความต้องการใช้ 1.04 ล้านตัน”