เลือกตั้งครั้งหน้า! ต้องมีส.ส.251 เสียง จึงจะเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ

  • “อนุทิน” เชื่อ ส.ว.ไม่กล้าโหวตนายกรัฐมนตรี
  • สวนทางความต้องการประชาชน
  • ดื้อรั้นฝ่ายบริหารจบตั้งแต่เสนอกฎหมายสำคัญ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เปิดเผยว่า เสถียรภาพรัฐบาลใหม่ หลังการเลือกตั้งปีหน้าควรเป็นอย่างไรในขณะที่ ส.ว. ยังมีส่วนในการเลือกตั้งนายกฯอยู่ว่า แม้ส .ว. ยังมีส่วนในช่วงขั้นตอนเลือกนายกรัฐมนตรีหากได้นายกฯมา แล้ว หลังจากนั้นการดำเนินการใดๆ ในสภาฯ จะเป็นเรื่องของรัฐบาล โดยตัวนายกรัฐมนตรีกับสภาผู้แทนราษฎร

“สิ่งสำคัญหลักการนั้นจะอยู่กับจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคการเมืองรวบรวมได้ว่าจะเกินกึ่งหนึ่ง หรือจำนวน 251 เสียงจาก 500 เสียง ได้หรือไม่ ซึ่งเราต้องเชื่อการตัดสินใจของประชาชน ต้องให้เกียรติประชาชนเป็นสำคัญ และมองว่าในระบอบประชาธิปไตย มันก็เป็นหลักการที่แฟร์ๆ กับประชาธิปไตยรัฐบาลต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งถึงจะเป็นรัฐบาล และทำงานได้และมั่นคง เพราะถ้าไม่เกินกึ่งหนึ่ง เมื่อเปิดสภาแถลงนโยบายหรือหากมีการออกกฎหมายสำคัญ ซึ่งดูแล้วในรัฐบาลชุดหน้าอาจจะมีกฎหมายสำคัญ กฎหมายการเงิน เช่น ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี เข้าสู่การพิจารณาก็ได้ในช่วงเดือน ส.ค. – ก.ย. ปีหน้า ถ้ารัฐบาลมีเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งก็อาจจะจอดตั้งแต่ตรงนั้นแล้ว ไม่ต้องรอไปถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ”

นายอนุทิน กล่อว่าต่อว่า มั่นใจว่า ส.ว. ก็ต้องมีกระบวนการความคิดว่าเขาจะสนับสนุนใครเป็นนายกฯ ถ้าความต้องการของประชาชนอย่างชัดเจน เขาคงต้องทำตามความต้องการของประชาชน นี่เป็นหลักที่คนที่เป็นนักการเมืองหรือเกี่ยวข้องกับงานการเมืองต้องยึดถืออยู่แล้ว

“ยกตัวอย่างในสมัยรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้งปี 2562 เข้ามาด้วยเสียง 253 เสียง ไม่ว่าใครจะพูดอะไรก็ตามนายกฯ มีความชอบธรรม เพราะได้รับเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่ง และรัฐบาลก็อยู่มาได้จนครบสมัย แต่รัฐบาลก็ต้องมีความสามารถในการบริหารบ้านเมืองด้วยจนอยู่พ้นมาได้เกือบ 4 ปีแล้ว”