เยอรมนีออกกม.แก้ปัญหาฉุกเฉินด้านพลังงาน

  • อนุญาตให้รัฐถือหุ้นบริษัทพลังงานมีปัญหา
  • เสนอกลไกแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายประชาชน
  • เปิดใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินถ้าขาดแคลนก๊าซ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า สภาสหพันธ์ (Bundestag) ของเยอรมนี เตรียมออกกฎหมาย 2 ฉบับ เพื่อจัดการกับปัญหาฉุกเฉินด้านพลังงาน อันเนื่องมาจากซัพพลายพลังงานจากรัสเซียที่ลดลง จากความตึงเครียดของสงครามกับยูเครน

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นขณะที่รัฐสภามีกำหนดจะเข้าสู่ช่วงปิดสมัยประชุมสภาในฤดูร้อนจนถึงปลายเดือนส.ค.นี้ โดยรัฐบาลของนายโอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ได้ร่างกฎหมายฉบับแรก ที่อนุญาตให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงได้ เมื่อบริษัทพลังงานประสบปัญหา เช่น กรณีของ บริษัท ยูนิเปอร์ (Uniper) ซึ่งรัฐอาจเข้าถือหุ้นจำนวนมาก เพื่อป้องกันการล้มละลาย และเพื่อให้ตลาดดำเนินต่อไปได้

นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าว ยังช่วยให้เกิดทางเลือกต่างๆ ในการนำเสนอกลไกการแบ่งเบาภาระราคาค่าก๊าซธรรมชาติในหมู่ผู้บริโภค แทนที่จะยอมให้ราคาก๊าซที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อบางภาคธุรกิจ และบางส่วนของห่วงโซ่การผลิต

ขณะเดียวกัน กฎหมายฉบับนี้ จะเพิ่มทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า ให้เปิดใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินได้มากขึ้น ประเทศขาดแคลนก๊าซในฤดูหนาว และจำเป็นต้องนำโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญ หรือในลูกค้ารายย่อยที่ใช้เครื่องทำความร้อน หลังจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายแห่ง ถูกสั่งปิดตามกฎหมายว่าด้วยสภาพอากาศ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม หาก

ทั้งนี้ กฎหมายฉบับนี้ต้องได้รับการอนุมัติจากสภาสูงในวันที่ 8 ก.ค.นี้ จึงจะมีผลบังคับใช้ ส่วนกฎหมายอีกฉบับ ร่างขึ้นเพื่อเร่งการขยายตัวของการใช้พลังงานหมุนเวียน เนื่องจากเยอรมนีต้องการบรรลุเป้าหมายที่จะใช้พลังงานหมุนเวียนถึง 80% ของพลังงานทั้งหมดภายในปี 2573 เพื่อลดภาวะโลกร้อน