“เพื่อไทย” ไม่ไว้ใจรัฐบาลจ่อชงร่างพรบ.แก้พรก.กู้เงินให้รัฐบาลต้องรายงานใช้เงินต่อสภาฯทุก3เดือน

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานยุทธศาสตร์ พรรคพท. และนายโภคิน พลกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์ ร่วมกันแถลงโดยคุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า วิกฤตครั้งนี้ต้องละความเห็นแก่ตัวลง เพราะไม่ใช่เรื่องที่เป็นประโยชน์ของรัฐบาล และพรรคการเมือง แต่เป็นประโยชน์ของประชาชน ดังนั้น ถ้าท่านมีความจริงใจ ท่านต้องรับฟัง สิ่งที่พรรคพท.กังวล และคิดว่า หายนะทางเศรษฐกิจจะมาถึง ที่นายกฯ บอกว่า ไม่เก่งเศรษฐกิจ แต่มีความจริงใจ เรื่องว่า ไม่เก่งเศรษฐกิจ เราเห็นด้วย ตลอดเวลาที่มีนายกฯชื่อพล.อ.ประยุทธ์ท่านไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้ แต่ที่บอกว่า มีความจริงใจ เราก็ไม่เห็นความจริงใจของนายกฯ จากการเสนอ พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ คือ ในการพิจารณาพ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับนั้น พรรคพท. เราเน้นว่า เราเห็นด้วยว่า ต้องทำ แต่สิ่งที่เราติติงคือ เราดูรายละเอียดแล้วไม่เห็นรายละเอียดใดๆเลย ที่เห็นว่า จะเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ และเราไม่เห็นการดำเนินการใดๆเลยที่จะแก้ไขสถานการณ์โควิดอย่างมีประสิทธิภาพ

“เงินจำนวนนี้คือ น้ำมันถังสุดท้าย แล้วในการติดเครื่องยนต์ประเทศไทย แต่วันนี้คนที่ไม่ตายไม่ได้ถูกเยียวยา แต่คนที่ตายไปแล้วกลับได้รับการเยียวยา ทุกอย่างสับสนอลหม่านไปหมด วันนี้คุณมองโลกข้างหน้ายังไม่ออกเลย จะใช้เงิน 55,000 ล้านบาทในการอบรมให้เกษตรกร แทนที่จะแจกเป็นคูปอง อบรมเพื่อเป็นเจ้านายโรบอร์ต แล้วค้าขายออนไลน์ได้ ไม่ใช้อบรมแล้วให้กับไปสู่ภาคเกษตรแบบเดิม

จากทั้งหมดนี้เราจึงเห็นว่า  มีความจำเป็นที่จะต้องแก้พ.ร.ก.ฉบับนี้ให้มีการตรวจสอบได้ ให้มีการตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ และให้มีการรายงานการใช้เงินทุก 3 เดือน ถ้าพล.อ.ประยุทธ์บอกว่า มีความจริงใจ ก็ช่วยพิสูจน์ความจริงใจในการสนับสนุนข้อเรียกร้องของฝ่ายค้านทั้ง 3 ข้อ เพื่อให้การใช้เงินกู้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่รั่วไหล ถ้าเงินก้อนนี้ไม่สามารถรีสตาร์ทประเทศไทยใน 3 เดือนนี้ได้ คนไทยจะลำบากมาก ทั้งนี้ นี่คือข้อแนะนำด้วยความจริงใจให้รัฐบาลด้วย” คุณหญิงสุดารัตน์  กล่าว

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีพ.ร.ก.ถ่ายโอนงบประมาณ ที่เราจะมีการอภิปรายในอาทิตย์นี้นั้น พรรคพท. เคยเสนอตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาแล้วว่า เราควรปรับลดงบประมาณปี 64 ซึ่งถ้าเป็นพ่อบ้านที่ดี และชาญฉลาดควรใช้เงินเก็บที่มีซ่อมบ้านก่อน แล้วไปกู้เงิน แต่รัฐบาลนี้กลับทำตรงกันข้าม คือเสนอพ.ร.ก.กู้เงินก่อน แล้วค่อยถ่ายโอนงบประมาณ ซึ่งนี่คือความไม่จริงใจที่เห็นอย่างชัดเจน และการตัดงบฯก็เป็นการตัดแบบขอไปที คือ ไม่ได้ตัดงบกลางออกไปเลย แต่ชะลอการจ่ายเงินไว้ เช่น จะจ่าย 4,000 ล้านบาท ก็จ่าย 400 ล้านบาทก่อน แล้วไปจ่ายในปีต่อไป และตัดน้อยมาก  เราเสนอตัด 10-15% ซึ่งถ้าเป็นพรรคพท. เราสามารถตัดได้ และจะตัดก่อนกู้ด้วย

นอกจากนี้ เราข้องใจว่า เหตุใดจึงตัดเงินไปกองไว้ที่งบกลาง ให้อำนาจนายกฯในการใช้จ่ายเงินได้ตามใจ หากจริงใจเหตุใดจึงไม่ตัดคืนสู่ระบบสาธารณสุขให้เข้มแข็ง หรือตัดไปช่วยส่วนใดส่วนหนึ่งที่จะช่วยฟื้นฟูเรื่องโควิด แต่กลับตัดเข้างบกลาง ให้เป็นอำนาจนายกฯเคนเดียว ซึ่งพรรคพท.เราไม่ไว้ใจนายกฯคนนี้ และนายกฯก็ไม่ได้จริงใจ ดังนั้น ท่านต้องเอางบกลาง 5 แสนกว่าล้านบาทที่เป็นก้อนเดิมไปทำอะไรบ้าง แล้วเมื่อเงินหมดแล้วจะตัดงบที่อ้างว่า ตัดเพื่อโควิดไปใส่มือนายกฯอีก เราจึงต้องอภิปราย เพราะเราไม่ไว้ใจให้คนที่ไม่เก่งเศรษฐกิจ และไม่จริงใจ และไร้ประสิทธิภาพทำงานต่อไป ดังนั้น ถ้าจริงใจจริงต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตรวจสอบ

ด้านนายโภคิน กล่าวว่า การเปิดกิจการของรัฐบาลทำเป็นช่วงๆ การทำมาหากินของประชาชนจึงไม่ได้ต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนเสียสละ เสียเสรีภาพ ตกงาน และยังไม่มีความมั่นใจอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งการใช้เงิน 1.9 ล้านล้าน ไม่มีความชัดเจน เพราะการตรวจสอบทำได้ยาก ดังนั้นหากการใช้เงินทำไม่สำเร็จคนที่จะต้องรับผิดชอบคือ พล.อ.ประยุทธ์

อย่างไรก็ตามมองว่าการใช้งบประมาณในส่วนนี้อาจจะมีการหาประโยชน์ทางการเมือง ใช้เงินเอื้อพวกพ้องในรูปแบบต่างๆ เช่น ระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง การตั้งราคาเกินจริง ซึ่งอาจจะมีความไม่ชอบมาพากล จึงต้องดูกันให้ดี ๆ ทั้งนี้เงินกู้และงบประมาณปี 63-64 เราจึงเสนอตั้งกมธ.ขึ้นมาตรวจสอบการใช้เงินกู้ และเสนอร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.ก. กู้เงิน เพื่อให้รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานการดำเนินการการใช้เงินต่อสภาทุก 3 เดือน

รวมถึงให้ข้อมูลตัวเลขการใช้เงิน เช่น การซื้อหุ้นกู้ ทุก 15 วัน หรือ 1 เดือน ซึ่งเราจะยอมให้เงินกู้ถูกปู้ยี้ปู้ยำ นอกจากนี้เรามีการผลักดันกฎหมายสภาเอสเอ็มอี และคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาในเดือนมิถุนายน ซึ่งอยากให้มีการพิจารณา 3 วาระรวดซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะมีการนิยามเอสเอ็มอีไว้ชัดเจน เพื่อให้มีการรวมตัว สร้างมาตรฐานร่วมกัน เข้าถึงสินเชื่อ และมีความต้องการแบบไหน