เพื่อไทยไม่หยุดขุดคุ้ยปมจัดซื้อ ATK-เดินหน้าชำแหละบิ๊กภูมิใจไทย

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย แถลงว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นญัตติต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาฯ วันที่ 16 ส.ค. มีรัฐมนตรีที่ถูกยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรายบุคลจำนวน 6 คนสำหรับรายชื่อรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปราย เป็นชื่อตามที่สื่อเสนอไป คือ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม 2.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข 3.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม 4.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ 5.นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน แต่ตรงนี้อาจจะยังไม่นิ่ง เพราะอาจจะมีเพิ่มเติมได้ คุยกันอยู่ว่าอาจจะเพิ่ม 1 คน คือ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แต่พรรคเพื่อไทยมุ่งที่ตัวนายกฯเป็นหลัก และก็มีคนที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอด้วย

ส่วนประเด็นสำคัญ คือ กรณีสัญญาการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน โดรนชายฝั่ง เน้นการอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ต่อมาคือ การบริหารจัดการโควิด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างวัคซีนและเรื่องล่าสุด ชุดตรวจโควิดแบบ Rapid Antigen Test หรือ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด ที่พบว่า บริษัทที่ชนะการประมูล คือบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายหนึ่ง เป็นคู่สัญญา และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนในรัฐบาล โดยเจ้าของบริษัทฯ เป็นเพื่อนร่วมรุ่น วปอ.61 ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บริษัทนี้ ทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์พัฒนาที่ดิน ไม่ได้ค้าขายเกี่ยวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ เมื่อเปรียบเทียบราคากับประเทศเยอรมันนี  0.85 ยูโร เมื่อเทียบค่าเงินไทยรวมภาษีและขนส่งแล้ว ราคารวมทั้งหมดไม่เกิน 40 บาท จึงตั้งข้อสงสัยว่าราคาที่ขายให้กับไทยถึง 70 บาท แพงเกินจริง และนายอนุทิน ต้องเป็นผู้ตอบคำถาม  

นายยุทธพงศ์กล่าวว่า ข่าวการทุจริตอย่างมโหฬารในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อาทิ เสาไฟกินรี รถดับเพลิงคันละ 50 ล้านบาทที่ ป.ป.ช. ชี้มูลขณะนี้มีสาเหตุมาจากประเทศไทยไม่ได้เลือกตั้งนายก อบต. มา 8 ปีแล้ว ส่วนใหญ่เป็นปลัดรักษาการ และกระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง ออกหนังสือ ว.89 แนวทางปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน โดยการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) แทนระบบ e-bidding จึงทำให้เกิดช่องว่าง ท้องถิ่นเรียกเฉพาะผู้ขึ้นทะเบียนกับ สสว. ในพื้นที่ ไม่เกิดการแข่งขัน เกิดการฮั้วประมูลและล็อคสเปก เรื่องนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ต้องตอบว่ามีระบบ e-bidding อยู่แล้วทำไมต้องออกระเบียบ ว.89 มาใช้ควบคู่ด้วย เพื่ออะไร