เปิด 10 กระทรวง-หน่วยงาน ได้รับงบประมาณปี 2567 มากที่สุด

  • มหาดไทย อันดับหนึ่ง
  • น้อยสุด สำนักนายกรัฐมนตรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีวงเงินทั้งสิ้น 3.35 ล้านล้านบาท โดยเป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล 5.93 แสนล้านบาท และมีกรอบงบประมาณในส่วนของรายจ่ายประจำ 2.49 ล้านล้านบาท รายจ่ายเพื่อชดเชยการคลัง 3.37 หมื่นล้านบาท รายจ่ายเพื่อการลงทุน 7.17 แสนล้านบาท

รายจ่ายเพื่อชำระคืนเงินกู้ 1.17 แสนล้านบาท โดยเป็นงบประมาณในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลซึ่งรัฐบาลใหม่จะมีการทบทวนก่อนนำร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ2567 เข้าสู่ที่ประชุมสภาฯคาดว่าจะประกาศใช้ได้ในช่วงต้นปี 2567

โดย การจัดทำร่างพ.ร.บ.รายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 มี 10 กระทรวง – หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุดจากมากไปน้อย ดังนี้

10 กระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุด

ทั้งนี้หากแบ่งงบประมาณรายจ่ายฯปี 2567 หากแบ่งตามกระทรวงต่างๆที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากมากไปน้อย 10 กระทรวงแรก ได้แก่

1.กระทรวงมหาดไทย 351,985.3 ล้านบาท

2.กระทรวงศึกษาธิการ 330,512 ล้านบาท

3.กระทรวงการคลัง 313,822 ล้านบาท

4.กระทรวงกลาโหม 198,562.9 ล้านบาท

5.กระทรวงคมนาคม 183,950 ล้านบาท

6.กระทรวงสาธารณสุข 170,369.2 ล้านบาท

7.กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) 127,669.8 ล้านบาท

8.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 117,142.9 ล้านบาท

9.กระทรวงแรงงาน 61,841.1 ล้านบาท

และ 10.สำนักนายกรัฐมนตรี 35,423.3 ล้านบาท

10 กระทรวง-หน่วยงานได้งบฯเพิ่มมากที่สุด

นอกจากนี้หากจัดอันดับ 10 กระทรวง – หน่วยงาน ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566 ได้แก่

1.กระทรวงการคลัง ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น 2.86 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 10.05%

2.กระทรวงมหาดไทย ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น 2.67 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 8.22%

3.กระทรวงสาธารณสุข ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น 1.81 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.87%ฃ

4.กระทรวงแรงงาน ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น 7.51 พันล้านบาท คิดเป็น 13.83%

5.กระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น 4.06 พันล้านบาท คิดเป็น 2.09%

6.กระทรวงคมนาคมได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น 3.63 พันล้านบาท คิดเป็น 2.02%

7.สำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น 3.23 พันล้านบาท คิดเป็น 10.06%

8.กระทรวงศึกษาธิการได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น 3.13 พันล้านบาท คิดเป็น 0.96%

9.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น 3.11 พันล้านบาท คิดเป็น 2.5%

และ 10.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น 1.85 พันล้านบาท คิดเป็น 27.32%