เปิดโผ…“หนี้เสีย”ภาคธุรกิจ ใครน่าห่วง!!

เผชิญวิกฤตโควิด-19 มานานกว่า 1 ปี  ได้รับผลกระทบมากบ้างน้อยบ้าง แต่วันนี้ ทุกภาคธุรกิจกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ยากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอยากยิ่ง ภาคธุรกิจที่กำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว

และแน่นอนว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมกระทบต่อฐานะการเงิน และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ทำให้รัฐบาล กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เร่งออกมาตรการเพื่อพักหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดจำนวนบุคคล และภาคธุรกิจที่จะกลายเป็น “หนี้เสีย” หรือที่รู้จักกันว่า “เอ็นพีแอล” 

เอ็นพีแอล หรือ Non-performing Loan หมายความว่าอย่างไร ในภาษาไทยใช้ คำว่า “สินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ “ เนื่องจากลูกหนี้ไม่สามารถส่งหนี้ติดต่อกัน 3 เดือน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า “หมดความสามารถในการชำระหนี้”

อย่างไรก็ตาม แม้ ธปท.จะระบุว่า จำนวนเอ็นพีแอลโดยรวมของระบบล่าสุดที่เปิดเผยในขณะนี้ คือ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 63  ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีมูลค่าทั้งสิ้น  523,261 ล้านบาท หรือ 3.11% ของสินเชื่อรวมที่ปล่อยออกไปทั้งระบบ  

โดยหากเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน คือ ไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 ที่มีเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 465,026 ล้านบาท หรือ 2.98% ของสินเชื่อรวม จำนวนหนี้เสียเพิ่มขึ้นประมาณ 58.235 ล้านบาทเท่านั้น

แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น ไม่ได้  หนี้เสียของภาคธุรกิจไม่น่าเป็นห่วง  เพราะหากดูไส้ในของ “หนี้เสีย”ซึ่งธปท.รายงานแล้ว จะเห็นว่า สถานการณ์ของแต่ละภาคธุรกิจแตกต่างกัน ซึ่งอาจจะสะท้อนต่อเนื่องถึง “ฐานะการดำเนินงานของภาคธุรกิจ”นั้น ๆ ด้วย

ทั้งนี้จากตัวเลข “ยอดคงค้าง Gross NPLs ทั้งระบบจำแนกตามประเภทธุรกิจ” ของธปท. พบว่า ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ หากคิดจำนวนหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอลทั้งหมดเป็น 100% จะพบว่า มีเอ็นพีแอลใน 3 กลุ่มของภาคธุรกิจที่มีสัดส่วนหนี้เสียเกิน 20% ของหนี้เอ็นพีแอลรวม

สำหรับกลุ่มแรกที่มีสัดส่วนหนี้เอ็นพีแอลต่อหหนี้เอ็นพีแอลรวมสูงที่สุด คือ สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ซึ่งมีจำนวนเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 144,380 ล้านบาท หรือคิดเป็น 27.59 % ของหนี้เสียทั้งหมดในขณะนี้ โดยหนี้ในกลุ่มนี้จะประกอบด้วยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นๆ  

โดยหนี้เสียที่น่าเป็นห่วงที่สุดในกลุ่มนี้ คือ หนี้เสียของสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่มีสูงถึง 94,636 ล้านบาท หรือ 18.09 %ของหนี้เสียรวม

ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ หนี้เสียของกลุ่มสินเชื่อสำหรับการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ ซึ่งมีเอ็นพีแอลสูงถึง 122,425 ล้านบาท หรือ 23.40% ของหนี้เสียรวม ขณะที่กลุ่มที่ 3 คือ ภาคการผลิต ซึ่งมีสินเชื่อที่เป็นหนี้เสียทั้งสิ้น 109,565 ล้านบาท หรือ 20.94 % ของหนี้เสียรวม

หรือคิดง่ายๆ จากจำนวนเอ็นพีแอล หรือหนี้เสีย 523,261 ล้านบาทในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 นั้น หนี้เสียของ 3 กลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนไปแล้วประมาณ 72% 

ขณะที่หากจะมองอีกวิธีหนึ่ง คือ คิดสัดส่วนหนี้เสียของแต่ละภาคธุรกิจ กับสินเชื่อรวมที่ปล่อยไปในเวลาเดียวกัน

จะพบว่า สินเชื่อในธุรกิจการเกษตร การป่าไม้ และการประมง มีเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวม หรือ สินเชื่อที่ปล่อยไปแล้วกลายเป็นหนี้เสียมากที่สุด มีสัดส่วนสูงมากอยู่ที่ 9.82% 

รองลงมาเป็น สินเชื่อในภาคก่อสร้าง ที่มีเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมในสัดส่วน 7.68%  ขณะที่อันดับที่ 3 คือ การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ มีสัดส่วนเเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวม 6.31% ตามมาด้วยภาคการผลิต มีเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวม 5.24% 

ส่วนสินเชื่อที่สำคัญอื่นๆ  เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัยนั้น มีหนี้เสียอยู่ที่ 3.78% ของสินเชื่อรวมที่ปล่อยออกไป ส่วนสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ มีสัดส่วนเเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมที่ 3.95%

ทำให้ เราพอเห็นแนวโน้มของหนี้สินของภาคธุรกิจต่างๆ  และการเกิดขึ้นของหนี้เสียในปัจจุบันว่าอยู่ที่จุดไหน อย่างไร !!

อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจจะมองว่าตัวเลขหนี้ต่ำกว่าความจริง และความรู้สึก สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างหนักในเวลานี้ ต้องทำความเข้าใจว่า ตัวเลข“หนี้เอ็นพีแอล” ในขณะนี้ยังไม่ได้รวม “หนี้ที่อาจจะเสียเพิ่มขึ้นได้หากพ้นกำหนดการพักหนี้” 

โดยในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้ขอให้ ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ยินยอมให้ลูกหนี้จำนวนมาก ทั้งที่เป็นภาคธุรกิจ และลูกหนี้บุคคล  สามารถเข้าสู่กระบวนการ “พักหนี้” ได้ชั่วคราว และ หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ก็สามารถต่อเวลาการพักหนี้ต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง จนกว่ากำลังซื้อจะเริ่มฟื้นตัว 

ทำให้ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินหนี้เสียในส่วนนี้ได้!

ต้องประเมินกันอีกครั้ง หลังครบกำหนดการพักหนี้ หรือเมื่อกำลังซื้อกลับมา ว่า ลูกหนี้เหล่านี้จะเร่งฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ และกลับมามีกำลังส่งหนี้อีกครั้งหรือไม่ หรือ จำนวนหนี้ที่ทบต้นทบดอกในช่วงที่พักหนี้ยาวๆ นี้จะเพิ่มขึ้นมหาศาลจนธุรกิจไม่สามารถกลับมาผ่อนส่งชำระคืนหนี้ได้ และกลายเป็นหนี้เสียในที่สุด

#Thejournalistclub #เศรษฐกิจคิดง่ายๆ