เปิดเส้นมาตรฐานคนจน:คนไทยกว่า 10 ล้านคนสาหัส

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ธนาคารโลก ได้ระบุว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ. 2563 ที่่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยมีจำนวน “คนยากจน” เพิ่มขึ้น

โดยธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ในปี 2563 จะมีประชากรwmpที่เข้าสู่ภาวะยากจนเพิ่มขึ้นอีก 1.5 ล้านคน มาอยู่ที่ 5.2 ล้านคน จากปีพ.ศ 2562 ที่มีประชากรที่อยู่ในภาวะยากจน 3.7 ล้านคน 

โดยคิดตามเส้นแบ่งความยากจนของกลุ่มรายได้กลางสูง หรือ  upper-middle income poverty line ที่ 5.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน หรือ ประมาณ 170 บาทต่อวัน หรือหากคิดเป็นรายเดือน (ทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์) จะมีรายได้อยู่ประมาณ 4,420 บาทต่อเดือนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากเข้าไปดูในรายงานของธนาคารโลก ที่ระบุ “คนจน”ของไทย เป็นรายไตรมาส พบว่าจำนวนคนจนของไทยพุ่งไทยสูงสุดใกล้ 10 ล้านคนในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีที่ผ่านมา 

เนื่องจากธนาคารโลกพบว่า ผลกระทบที่มีต่อสวัสดิภาพของภาคครัวเรือนจากวิกฤตโควิด-19 ในปีที่ผ่านมามีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับรุนแรง จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่จะหดตัวลงในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งอัตราการหดตัวทางเศรษฐกิจในครั้งนี้จะรุนแรงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

โดยพบว่า จำนวนประชากรที่ขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มประชากรที่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยรายได้ต่ำกว่า 5.5 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 170 บาทต่อวัน ถูกคาดการณ์ว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 4.7 ล้านคนในไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2563 และเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัวจากไตรมาสแรก เป็น 9.7 ล้านคน โดยประมาณในไตรมาสที่สองของปี พ.ศ. 2563 และจะมีจำนวนลดลงไปอยู่ที่ 7.8 ล้านคนในไตรมาสที่สามของปี พ.ศ. 2563 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้รับมือกับปัญหาดังกล่าวอย่างรวดเร็วด้วยการใช้มาตรการช่วยเหลือด้านการคลัง ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 6%  ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ทำให้จำนวนที่เข้าสู่ภาวะยากจนลดลงได้บ้าง

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ตัวเลขดังกล่าวของธนาคารโลก  พบว่า แม้ตัวเลขล่าสุด ในปี พ.ศ.2563  ตัวเลขของคนจนที่มีรายได้ต่ำกว่า 4,420 บาทต่อเดือน หรือ 170 บาทต่อวัน หรืออยากจะเรียกว่า “คนยากจนข้นแค้น” จะดีขึ้นกว่า 9.7 ล้านคนในไตรมาสที่ 2 มาอยู่ 5.2 ล้านคน แต่การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้สถานการณ์รายได้ และคนว่างงานพุ่งขึ้นอีกครั้ง

โดยจากการประเมินผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า จะมีแรงงานกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากโควิดในระลอกใหม่นี้ ประมาณ 4.7 ล้านคน 

โดย 1.2 ล้านคนจากกลุ่มนี้ จะเป็นผู้ว่างงาน หรือ ผู้เสมือนว่างงาน (มีจำนวนชั่วโมงทำงานน้อยกว่า 24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์)  ซึ่งยากลำบากต่อการดำรงชีพ โดยเป็นลูกจ้างรายวันนอกภาคเกษตร จำนวน 500,000 คน  อาชีพอิสระนอกภาคเกษตร 600,000 คน และลูกจ้างในสาขาโรงแรม ที่มีความเสี่ยงตกงานเพิ่มขึ้นประมาณ 100,000 คน 

ขณะที่แรงงานส่วนที่เหลืออีก 3.5 ล้านคนนั้น แม้อาจจะไม่ตกงาน แต่จะประสบปัญหารายได้ลดลงอย่างรุนแรงกระทบต่อการดำรงชีพ

นอกจากนั้น หากพิจารณาจากมาตรฐานเส้นความยากจนสากล ซึ่งธนาคารโลกใช้การขีดเส้นรายได้ของ “คนจน”ไว้ที่ 170 บาทต่อวันนั้น อาจจะไม่สะท้อน “ความจนที่แท้จริง” 

โดยนิยามของ “คนจน” ในข้อเท็จจริงวันนี้ ควรจะเป็นคนที่ยังดำรงชีพอยู่ได้ แต่ในสภาพที่พออยู่พอกินไปวันๆ แต่ไม่สามารถรองรับความเจ็บป่วย หรือสถานการณ์ฉุกเฉินทางการเงินอื่นๆ ได้ 

ซึ่งในแง่นี้ อาจจะเป็นคนที่ดำรงชีพด้วย “แรงงานรายวันขั้นต่ำ” ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 300-350 บาทต่อวัน หรือ 7,800-,9100 บาทต่อเดือน (ทำงาน 26 วันต่อเดือน) ซึ่งอาจจะใกล้เคียงนิยามของ “คนเกือบจน” ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  (สศช.) หรือสภาพัฒน์ 

โดยสภาพัฒน์ระบุตัวเลขคนไทยที่เข้านิยาม “คนเกือบจน” ว่ามีประมาณ 5.4 ล้านคนในปี พ.ศ.2562 ที่่ผ่านมา ซึ่งเมื่อผ่านสถานการณ์โควิด -19 คาดได้ว่า ตัวเลขจะต้องเพิ่มขึ้นในลักษณะเดียวกับ “คนจนข้นแค้น” 

ดังนั้น เมื่อรวมทุกสถานการณ์ทั้ง “คนจนข้นแค้น” และ “คนจน” ตามนิยามคนเกือบจน และคนที่มีความเสี่ยงจะกลายเป็นคนจน จากโควิดระลอกใหม่นี้แล้ว อยู่ที่ 10-15 ล้านคนโดยประมาณ

และคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ “จน” แบบชั่วคราวเพราะวิกฤตโควิด-19 แต่เป็น “คนจนแบบถาวร”  ที่ในช่วงเหตุการณ์เศรษฐกิจปกติ ก็แทบดำรงชีพไม่ได้ หรืออยู่ได้แบบยากลำบากแสนสาหัส

ดังนั้น นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาหรือให้เงินเยียวยาคนเหล่านี้เพื่อช่วยประคองให้พ้นวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลต้องมองให้ลึกซึ้งถึง “โครงสร้างของความยากจน” เพื่อที่ยกระดับคนเหล่านี้ให้พ้น “ความยากจน” ได้อย่างแท้จริง ซึ่งไม่ใช่แค่พ้น “เส้นความยากจน” ตามนิยามเท่านั้น

#Thejournalistclub #เศรษฐกิจคิดง่ายๆ#ความยากจน