เปิดเมืองเพิ่ม-น้ำมันขึ้นดันดัชนีดาวโจนส์บวก 133 จุด

  • โอเปกพลัสเริ่มลดกำลังการผลิต ส่งผลราคาน้ำมันดีดขึ้น
  • นักลงทุนมีความหวังหลังหลายรัฐทยอยปลดล็อกดาวน์
  • ดัชนีดีดขึ้นขานรับยาต้านโควิด-19 มีความคืบหน้า

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดตลาดวันที่ 5พ.ค.ที่ 23,883.09 จุด เพิ่มขึ้น 133.33 จุด หรือ+0.56% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส ปิดที่ 8,809.12 จุด เพิ่มขึ้น 98.41 จุด หรือ +1.13% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 2,868.44 จุด เพิ่มขึ้น 25.70 จุด หรือ+0.90%

ตลาดได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ 5 อันเนื่องมาจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ได้เริ่มปรับลดการผลิตเพื่อรับมือกับภาวะน้ำมันล้นตลาด

ขณะที่การคลายมาตรการล็อกดาวน์ของหลายรัฐในสหรัฐทำให้นักลงทุนมีความหวังในการหยุดความเสียหายของเศรษฐกิจลงได้บ้าง โดยรัฐนิวยอร์กจะเริ่มเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว

ขณะที่รัฐแคลิฟอร์เนียประกาศว่า จะอนุญาตให้ธุรกิจค้าปลีกบางส่วนกลับมาเปิดบริการอีกครั้งในสัปดาห์นี้ โดยทางรัฐจะดำเนินการอย่างรอบคอบระมัดระวัง เช่นเดียวกับรัฐวอชิงตันได้ประกาศแผน Safe Start เมื่อวานนี้เพื่อทยอยเปิดเศรษฐกิจ

นอกจากนนั้น รัฐอลาสกา, จอร์เจีย, เซาธ์ แคโรไลนา, เทนเนสซี และเท็กซัส ก็ได้เริ่มให้ร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการแก่ลูกค้า

ตลาดยังได้รับปัจจัยหนุนหลังจากไฟเซอร์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทยาใหญ่ที่สุดของสหรัฐ เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้เริ่มทำการทดลองวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในคนในสหรัฐแล้ว และทางบริษัทคาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนหลายล้านโดสภายในปลายปีนี้

หุ้นกลุ่มเวชภัณฑ์พุ่งขึ้นขานรับข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับการทดลองวัคซีนต้านไวรัส โดยหุ้นไฟเซอร์ พุ่งขึ้น 2.37% หุ้นจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน บวก 0.83% หุ้นแอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส พุ่งขึ้น 3.57% หุ้นเมอร์ค แอนด์ โค เพิ่มขึ้น 1.5%

นักลงทุนยังซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีหลังผลประกอบการออกมาดีกว่าที่คาด โดยหุ้นไมโครซอฟท์ เพิ่มขึ้น 1.07% หุ้นแอปเปิล พุ่งขึ้น 1.5% หุ้นเฟซบุ๊ก 0.88% หุ้นอัลฟาเบท พุ่งขึ้น 1.97% หุ้นอินเทล ปรับตัวขึ้น 1.3%

ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) พบว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐเผชิญภาวะหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ทศวรรษ โดยถูกกดดันจากการที่กิจกรรมในภาคธุรกิจหยุดชะงักลง ขณะที่ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ร่วงลงสู่ระดับ 26.7 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จากระดับ 39.8 ในเดือนมี.ค. โดยภาคบริการของสหรัฐยังคงอยู่ในภาวะหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3