เปิดอาณาจักร “คิง เพาเวอร์”

  • ธุรกิจดิวตี้ฟรี
  • สโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้ (ประเทศอังกฤษ)
  • สโมสรเอาด์-เฮเฟอร์เลเลอเฟิน(ประเทศเบลเยี่ยม)
  • โรงแรม และจุดชมวิว คิง เพาเวอร์ มหานคร

“ธุรกิจหลักของกลุ่มคิงเพาเวอร์ ยังคงเป็นธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีในประเทศ ไทย ขณะที่การลงทุนในต่างประเทศ บริษัทมุ่งเน้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งธุรกิจโรงแรม และร้านค้าปลอดภาษี”

อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานกรรมการบริหารของกลุ่มคิงเพาเวอร์ และทายาทรุ่นที่สองของตระกูลให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว JNC

“ผมยอมรับว่า เป็นเรื่องยากกว่าจะผ่านเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นเร็วมากในช่วงปีที่ผ่านมามาได้ แต่ในฐานะที่ต้องดูแลธุรกิจ และพนักงานถึง 12,000 คน ผมต้องเดินหน้าธุรกิจต่อไปโดยให้ความสำคัญกับธุรกิจในไทยเป็นหลัก ส่วนการลงทุนในต่างประเทศก็จะพิจารณาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวเป็นหลัก” 

อัยยวัฒน์ กล่าวถึง ทิศทางของกลุ่มคิงเพาเวอร์ว่า ธุรกิจที่เขามีบทบาทเข้ามาบริหารตั้งแต่ปี 2558 ก่อนที่บิดาคือ นายวิชัย ศรีวัฒนประภา จะเสียชี วิตอย่างกระทันหันในเดือนตุลาคม 2561 เป็นเหมือนการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่สนามธุรกิจจริงในปี 2562 ที่จะมีการเปิดประมูลสัมปทานรอบใหม่ก่อนที่สัมปทานเดิมจะหมดไป

การจากไปอย่างกระทันหันของ วิชัย ศรีวัฒนประภา ในช่วงหัวเลี้ยวหัว ต่อของธุรกิจของกลุ่มในการเข้าร่วมประมูลสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินหลักทั้งสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และสนามบินในภูมิภาคอย่างภูเก็ต หาดใหญ่ และเชียงใหม่ ท่ามกลางการแข่งขันที่มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ทั้งใน และต่างประเทศต่างให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้

และดูเหมือนว่า การเตรียมตัวของ “อัยยวัฒน์” ในวัยไม่ถึงสามสิบปีนับตั้งแต่ปี 2558 กระท่ังถึงการเปิดประมูลใหม่ในปี 2562  ณ ห้วงเวลาที่บิดา ได้จากไปอย่างกระทันหัน ถูกกำหนดไว้แล้วว่า เขาจะต้องประสบความสำเร็จด้วยการทำให้ คิง เพาเวอร์ ชนะการประมูลร้านค้าปลอดภาษี-เชิงพาณิชย์ ทั้งสนามบินสุวรรณภูมิ และภูมิภาคทั้งเชียงใหม่ หาดใหญ่ และภูเก็ต ทั้ง 4 สนามบิน เมื่อสัญญาเดิมหมดลงในปี 2564

อัยยวัฒน์ เคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า ในยุคของบิดาของเขานั้น ใช้เวลากว่า 26 ปีสร้างรากฐานธุรกิจจนแข็งแรง พอมาถึงรุ่นของเขา เขา และพี่ๆจะต้องสานต่อเจตนารมณ์ สำคัญที่สุด คือ ขยายธุรกิจภายใต้เงื่อนไข กติกา ตามระเบียบกฎหมายการค้าการลงทุนของประเทศ และของนา นาชาติอย่างซื่อสัตย์ 

เพราะคิง เพาเวอร์ เป็นธุรกิจคนไทย มีหน้าที่ต้องดูแลภาพลักษณ์ รักษาชื่อเสียงของประเทศไทยเพื่อสร้างความเชื่อมั่น

“เรื่องแรก สำหรับแผนธุรกิจ คือ ปรับวัฒนธรรมภายในองค์กร ก้าวสู่เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม และการตลาด เป็นการนำอีคอมเมิร์ซเข้ามาบริหารจัดการแบบครบวงจร ใช้อุปกรณ์ทางเทคโนโลยีติดต่อสื่อสาร สั่งงาน และเพิ่มช่องทางการขายสินค้าแบรนด์ไทย และดิวตี้ฟรี ผ่านระบบดิจิทัล หรือ www.kingpower.com. โดยการจับมือกับ www.tmall.com ซึ่งเป็นช็อปปิ้งออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดของจีน เพื่อเพิ่มยอดขายหมุนเวียนสินค้าแบรนด์ไทย และอินเตอร์ควบคู่กันไป โดยมีเป้าหมายให้เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8-10 ต่อปี”

  • ร่วมประมูลดิวตี้ฟรีดอนเมือง
  • ลงทุนธุรกิจโรงแรมในอังกฤษ
  • ตั้งเป้ารายได้ 140,000 ล้านบาทปี 2564 

ในภาพรวมแล้วธุรกิจของกลุ่มคิง เพาเวอร์ มีทั้งร้านค้าดิวตี้ฟรี สินค้าเฮาส์แบรนด์ ผลิตภัณฑ์อาหารไทยทั้งสำเร็จรูป และแปรรูป ร้านอาหารรามายณะที่เปิดรับนักท่องเที่ยว ทำยอดขายได้รวมเกือบแสนล้านบาทในปัจจุบัน

“ธุรกิจ ดิวตี้ฟรีของคิง เพาเวอร์ ในนามของคนไทย ขณะนี้ได้รับการจัดอันดับทำยอดขายติด 1 ใน 10 ของโลกแล้ว และในอนาคตจะนำดิวตี้ฟรีของไทยก้าวขึ้นไปติดอันดับ 1 ใน 7 ของโลกให้สำเร็จ  เช่นเดียวกับการพัฒนากีฬาฟุตบอลของทีมฟุตบอลสโมสรเลสเตอร์ซิตี้ ก็จะต้องไปยืนติดอันดับท็อปไฟฟ์ด้วยเช่นกัน”อัยยวัฒน์ กล่าว

“หลักการสำคัญที่สุดในสนามแข่งขันทางธุรกิจ และกีฬาที่คุณพ่อสั่งสอนผม และทีมงานระดับบริหาร รวมถึงทุกคนในครอบครัวมาตลอดก็คือการจะไปลงทุนธุรกิจในประเทศไหนๆ ต้องศึกษาระเบียบ กติกา เงื่อนไขการลงทุน กฎหมาย และให้เคารพสิทธิของคู่แข่งคนอื่นๆด้วย เพราะหัวใจของการทำ การค้า ต้องยึดคุณธรรม สร้างสินค้าที่มีคุณภาพ รักษาชื่อเสียงแบรนด์คนไทย พัฒนามาตรฐานบริการ คุณภาพคน และทำด้วยความรักในธุรกิจนั้นๆ”

ภายใต้ปรัชญา และแนวคิดในการทำธุรกิจนี้ อัยยวัฒน์ ระบุว่า ธุรกิจ ของ คิง เพาเวอร์ในประเทศไทย ยังคงเป็นธุรกิจหลักของกลุ่ม โดยให้ความสำคัญในธุรกิจร้านค้าปลอดภาษี(Duty Free)เป็นหลัก ยังไม่มีแนวคิดที่จะรุกธุรกิจอื่นนอกเหนือจากนี้ 

หลังจากที่บริษัทเคยเข้าไปซื้อหุ้นใหญ่ในไทยแอร์เอเซีย แต่ต่อมาได้ขายหุ้นคืนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมไป

ขณะที่ในต่างประเทศ อัยยวัฒน์ ระบุว่า เขามีแนวคิดที่จะขยายในส่วนของธุรกิจบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เพราะเป็นธุรกิจที่มีความชำนาญ โดยเฉพาะธุรกิจร้านค้าปลอดภาษี และธุรกิจโรงแรม ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับการเข้าไปลงทุนในยุโรป

โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ ที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น และสินทรัพย์ในอังกฤษมีมูลค่าถูกลง ถือเป็นโอกาสสำหรับการลงทุน

“แต่ผมคงไม่ซื้อทีมฟุตบอลเพิ่ม และต้องให้ความสำคัญกับทีมเลสเตอร์ เป็นหลัก” อัยยวัฒน์ กล่าว

ปัจจุบันธุรกิจของกลุ่มคิงเพาเวอร์ในประเทศไทยประกอบด้วยธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีที่มีทั้งหมด 8 แห่ง ได้แก่ การขายสินค้าผ่านหน้าร้าน “ดิวตี้ฟรี” ในสนามบิน 4 แห่งคือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง หาดใหญ่ และเชียงใหม่ รวมถึงดิวตี้ฟรีในเมือง (Down Town) 3 แห่ง ได้แก่ คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ ราง น้ำ, ศรีวารี และ ภูเก็ต

นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของพื้นที่บางส่วนของตึกมหานคร ประกอบด้วยโรงแรม และจุดชมวิว Observation Deck ปัจจุบันคือ คิง เพาเวอร์ มหานคร    ร้านค้าปลีกบริเวณพื้นที่รีเทล 4 ชั้น อาคารรีเทลมหานครคิวป์ รวมถึงที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมคิดเป็นมูลค่า 14,000 ล้านบาท

ส่วนธุรกิจในต่างประเทศ นอกจากสโมสรทีมฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ แล้ว ยังเข้าไปลงทุนในสโมสรฟุตบอลทีมสโมสรเอาด์-เฮเฟอร์เลเลอเฟิน(ประเทศเบลเยี่ยม) 

ในขณะที่บริษัทมีแผนที่จะลงทุนธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีในต่างประเทศโดยให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเซียเป็นหลักอาทิ เมียนมาร์ และฟิลิปปินส์ 

โดยมีเป้าหมายว่าภายในปี 2564 บริษัทจะมีรายได้ทะลุ 140,000 ล้านบาทจากปัจจุบันที่มีรายได้อยู่ในระดับเกือบแสนล้านบาท