เปิดหนทางหนีตาย “ลูกหนี้เอสเอ็มอี”

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

หลังจากสามารถยันตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นศูนย์มาได้มากกว่า 45 วัน แต่หลังจากเคสทหารอิยิปต์และลูกท่านฑูตซูดาน รวมทั้งกรณีครอบครัวฑูตยุโรป ผุดขึ้นมาเป็นระลอกๆ คนไทยจำนวนมากเริ่มมีความมั่นใจว่า การระบาดของโควิด-19 เฟส 2 จะต้องหนีไม่พ้นเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างแน่นอน 

เพียงแต่ยังไม่แน่ใจว่า จะช้าหรือเร็ว และการระบาดจะเป็นการระบาดเล็ก หรือระบาดใหญ่!!!

ตามนิยามกรมควบคุมโรค การระบาดเล็ก คือ การระบาดที่ควบคุมได้ และความสามารถในการรักษาพยาบาลของประเทศรองรับได้ คือ จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เฉลี่ยต่อวันไม่ควรเกิน 30 วันต่อวัน แต่หากเกิดเป็นการระบาดแบบกลุ่มก้อน  กระจายตัวรวดเร็ว หรือมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ เฉลี่ยมากกว่าวันละ 100 คน ถือเป็นการระบาดใหญ่ 

กรณีดังกล่าวอาจจะต้องใช้ “ยาแรง” ถึงขั้นกลับมาปิดธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน หน้าที่การงาน และการดำเนินธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อย่างหนักอีกครั้ง และแม้แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ก็จะยากลำบากด้วยเช่นกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเอสเอ็มอีใดมีหนี้สินเดิมที่ต้องชำระ ขณะที่รายได้ลดลงจำนวนมาก  หรือแทบไม่มีรายได้เข้ามาเลย อย่างเช่น เอสเอ็มอีส่วนหนึ่งในภาคท่องเที่ยว 

ทางออกแรกในช่วงที่ผ่านมาของเอสเอ็มอีเหล่านี้ คือ การเจรจาพักเงินต้นและดอกเบี้ย กับผู้ประกอบการให้สินเชื่อ หรือธนาคารเจ้าหนี้เอาไว้ก่อน โดยในช่วงแรกนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศมาตรการพักหนี้ให้โดยทั่วไปเป็นเวลา 6 เดือน 

โดยอาจจะพักเฉพาะการส่งเงินต้น ชำระดอกเบี้ย หรือพักทั้งต้นทั้งดอก แล้วค่อยโปะหนี้ส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้ ทั้งส่วนเงินต้นทั้งดอกเบี้ยทีหลัง

เมื่อไม่มีรายได้ เอสเอ็มอีส่วนหนึ่งก็ตัดสินใจพักหนี้ไว้ก่อน และหวังว่าเมื่อ 6 เดือนผ่านไป หรือเมื่อครบเวลาพักหนี้สิ้นเดือน ต.ค.นี้ เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเปิดเต็มที่ และสร้างรายได้กลับมาอีกครั้ง

แต่ขณะนี้ แน่ชัดแล้ววว่า ความกังวลที่ว่าจะมีการระบาด รอบ 2 ทั้งในประเทศไทย และหลายๆ ประเทศทั่วโลก ทำให้โอกาสที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวอีกครั้งในช่วง 1-2 เดือนต่อจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นแบบการจับคู่ท่องเที่ยว (Travel Bubble) หรือ การเปิดรับนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม โดยไม่มีการกักตัว 14 วันคงเกิดขึ้นได้ยาก

ทำให้มีความเป็นห่วงกันว่า เดือน ต.ค.จะเป็นช่วงเวลาที่ “เอสเอ็มอี” ไทยต้องประกาศมาตรการเบี้ยวหนี้ หรือปล่อยให้หนีี้ดี กลายเป็นหนี้เสีย โดยเฉพาะ เอสเอ็มอีที่อยู่ระหว่างการพักหนี้ พยายามเกาะอยู่ปลายหน้าผาในขณะนี้

เมื่อถึงเวลาที่ต้องกลับมาผ่อนส่งชำระหนี้รายเดือนอีกครั้ง ในขณะที่รายได้ไม่ได้กลับมาอย่างที่คาด ส่วนที่ถอยไม่ได้แล้ว จ่ออยู่ปลายหน้าผา อาจจะไถลตกหน้าผาตายกันไปหมด 

และเมื่อคืนหนี้ไม่ได้ กลายเป็นหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล จะต้องเจอกับการบังคับหลักประกัน ยึดทรัพย์สิน หรือถึงขั้นขอล้มละลาย ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาว่างงานและปัญหาสังคมตามมา

แล้วจะทำอย่างไรป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา “ชำระหนี้ไม่ได้” ทำอย่างไรไม่ให้ตกหน้าผา ในขณะที่วันนี้ ธปท.ยืนยันแล้วว่า จะไม่ออกมาตรการขยายเวลาหนีตายให้กับลูกหนี้เอสเอ็มอียืดออกไปอีก

ธปท.แนะนำว่า ในระหว่างที่พักหนี้อยู่ในขณะนี้ หากลูกหนี้เอสเอ็มอีรายใด เริ่มประเมินสถานะการเงินแล้วพบว่า ไม่สามารถที่จะกลับมาชำระหนี้ หลังจากช่วงพักหนี้เดิมได้แน่นอน ขอให้ติดต่อไปยังธนาคารเจ้าหนี้ เพื่อดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้

โดยใช้วิธีเปลี่ยนช่วงระยะเวลาของการเป็นหนี้ จากหนี้ระยะสั้นให้เป็นหนี้ที่มีระยะผ่อนส่งที่ยาวขึ้น เช่น หากกู้เป็นสินเชื่อระยะสั้น อาจจะเปลี่ยนเป็นระยะยาว 48 เดือน หรือ 60 เดือน ซึ่งจะช่วยทำให้การผ่อนชำระรายเดือนลดลงในเบื้องต้น 

นอกจากนั้น   ในขั้นตอนที่ ธปท.ได้ให้นโยบายกับผู้ประกอบกิจการให้สินเชื่อ และธนาคารเจ้าหนี้ทุกรายให้เจรจาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้อย่างเป็นธรรมนั้น นอกเหนือจากการ ขอให้ดำเนินการยืดหนี้สั้นเป็นระยะยาวแล้ว ยังเกี่ยวเนื่องไปถึง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง การยกเว้นค่าธรรมเนียมในบางส่วน การให้ช่วยหาหน่วยงานมาค้ำประกันหนี้ และอาจจะมีเวลาปลอดหนี้ในช่วงแรก ซึ่งจะเงื่อนไขจะแตกต่างกันลูกหนี้แต่ละราย

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติในการเข้าไปปรึกษาธนาคารเจ้าหนี้ มีความเป็นไปได้มากที่อาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่หวัง ไม่มีความคืบหน้า หรือไม่ได้รับเงื่อนไขที่เหมาะสม 

กรณีเหล่านี้ ลูกหนี้เอสเอ็มอีสามารถติดต่อ มายังธปท.ผ่าน 2 ช่องทาง คือ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. โทร. 1213 และคลินิกแก้หนี้ ที่ Call Center 0 2610 2266 ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 8.30 – 17.00 น. ซึ่งทางธปท.จะรับเป็นตัวกลางประสานการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับท่านได้

อย่ารอให้เกิดปัญหา ตัดสินใจก่อน แก้ปัญหาก่อน มาก่อนได้ก่อน และไม่ต้องกลัวว่าเป็นหนี้ยาว พอมีเงินแล้วโปะไม่ได้ เพราะธปท.ระบุให้หนี้ส่วนที่ยืดอายุนี้ ไม่คิดค่าธรรมเนียมการโปะหนี้ในอนาคต

ส่วนเอสเอ็มอี ที่ยังพอมีแรงส่งหนี้สินไหว แต่เดินหน้าต่อไม่ได้ เพราะธุรกิจที่ทำอยู่ถูก distrub โดยเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ หรือ เกิดปัญหาจากการเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนใหม่ หรือ New normal

ธปท.แนะนำว่า อย่ารอให้โควิด-19 จบไปก่อนถึงจะเร่งปรับตัว เพราะจุดนั้นจะไม่ทันการณ์แล้ว 

ขอให้เร่งคิดหรือปรับวิถีการดำเนินธุรกิจตั้งแต่วันนี้ โดยอาจจะศึกษาหาความรู้ไว้ก่อน วางแผนปรับองคาพยพใหม่ ปรับทักษะ ความรู้ของคนงาน แรงงานที่มีอยู่ให้ตรงกับงานใหม่ เตรียมปรับมาใช้เทคโนโลยี หรือเครื่องจักรที่ทันสมัยมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนระยะยาว

และหากต้องการ “เงินทุน” หรือ “ความรู้” เพิ่มที่จะปรับโครงสร้างธุรกิจของตัวเองให้เดินไปกับ “โลกใหม่” ได้ สามารถขอกู้เงินจากโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน ของธปท.วงเงิน 500,000 ล้านบาท หรือซอฟท์โลน 500,000 ล้านบาทที่ปล่อยกู้ผ่านทุกธนาคารพาณิชย์ได้ 

เพราะนอกเหนือจาก การช่วยสภาพคล่องฉุกเฉินแล้ว วัตถุประสงค์ให้เงินสินเชื่อจำนวนนี้ ยังต้องการปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยปรับปรุงธุรกิจให้เอสเอ็มอีด้วย โดยสามารถกู้เงินได้ตั้งแต่วันนี้จนสิ้นปีหน้า

โดย ธปท.ได้เตรียมที่จะขยายเวลาการให้หลังจากที่ครบโครงการให้ซอฟท์โลนนี้่ต่อไปอีก 1 ปีหลังเฟสแรกสิ้นสุด 31 ธ.ค.ปีนี้ไว้แล้ว

ทุกคนรู้  โลกรู้ ธปท.รู้ ใครๆก็รู้ ว่าเอสเอ็มอีไทย ถือเป็นเครื่องจักรสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจไทย ดังนั้น หากปล่อยให้เอสเอ็มอีล้มตายจำนวนมาก เศรษฐกิจย่อมยากที่จะฟื้นเช่นกัน แต่เอสเอ็มอีก็ต้องคิดให้ไว และช่วยตัวเองให้อยู่ต่อไปได้มากที่สุด