เปิดสถิติ 30 ปี ไทยเจอน้ำท่วม 4 หมื่นครั้ง เศรษฐกิจเสียหาย 12.6 ล้านล้าน

  • มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 คน
  • ผลจากภาวะโลกร้อน
  • ทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นกว่าในอดีตถึง 3 เท่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายงานภาวะสังคมไตรมาสที่ 3 เผยแพร่โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยข้อมูลในรายงานเรื่อง “เมื่อโลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัว : เราจะรับมืออย่างไร” โดยมีสาระสำคัญว่า จากการประมวลความถี่ของการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าในช่วงหนึ่งอายุของคนที่เกิดในปี 2563 จะมีโอกาสเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติมากกว่าคนที่เกิดในปี 2503 ถึง 3 เท่า

โดยรายงานการค้าและการพัฒนา (Trade and Development Report 2021) จัดทำโดย UNCTAD ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงปี 2543 – 2562 ทั่วโลกเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ จำนวน 7,348 ครั้ง คร่าชีวิตผู้คนไป 1.23 ล้านคน ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลกกว่า 4,200 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าความเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติทั่วโลกสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 2.97 ล้านล้านดอลลาร์

สำหรับประเทศไทยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีการเกิดอุทกภัยจำนวนมากกว่า 4 หมื่นครั้ง มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากกว่า 12.59 ล้านล้านบาท โดยเมื่อปี 2554 ประเทศไทยประสบกับอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี ส่งผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สินของเคยไทยเกือบทุกภูมิภาคของประเทศ รวมทั้งเศรษฐกิจได้รับความเสียหายอย่างมาก นับเป็นอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

จากนั้นในปี 2564 ประเทศไทยได้ประสบกับภาวะอุทกภัยครั้งใหญ่อีกครั้ง แม้จะไม่รุนแรงเท่าช่วงปี 2554 แต่ก็ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ามหาดศาลถึง 5.3 หมื่นล้านบาท

ในอดีตคนทั่วไปมักคิดว่าภัยพิบัติข้างต้นเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือผลมาจากการบริหารจัดการภัยพิบัติของภาครัฐที่ยังไม่ดีพอ แต่การศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ระบุว่าภัยพิบัติดังกล่าว เป็นผลจากภาวะโลกร้อนซึ่งเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกที่ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น โดยรายงาน ผลการศึกษาของ The Intergovernmental Panel on Climate Change (2021) เปิดเผยว่า อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นแล้ว 1.00 องศาเซลเชียส จากความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มสูงสุดในรอบ 2 ล้านปี และส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าในอดีตถึง 3 เท่า

การศึกษาข้างต้นชี้ให้เห็นว่า โลกร้อนกลายเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่สามารถส่งผลกระทบได้กับคนสามารถสร้างความเสียหายได้อย่างรุนแรง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาความตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน จากข้อมูลการสำรวจของ UNDP และ University of Oxford ในปี 2564 พบว่า มีเพียง 64% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นของโลก และ 59% คิดว่าจะต้องมีการจัดการอย่างเร่งด่วน ขณะที่ประเด็นที่ต้องได้เป็นลำดับต้น ๆ ได้แก่ การอนุรักษ์ป่าไม้และการใช้ที่ดิน การใช้พลังงานหมุนเวียน การทำการเกษตรที่เหมาะสม การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระบบขนส่งสาธารณะ และการมีโครงสร้างพื้นฐาน การเตือนภัย ข้อมูลข้างต้นสอดคล้องกับ

ผลการสำรวจของบริษัท Meta ร่วมกับ Yale University ซึ่งปรากฎในรายงาน International Public Opinion on Climate Change 2022 ที่ระบุว่า กว่า 50% ของผู้ตอบแบบสำรวจทั่วโลก รับรู้ถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ และรับรู้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกกำลังสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีการตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนสูงกว่ากลุ่มประเทศอื่น

สำหรับประเทศไทย จากผลการสำรวจเดียวกัน พบว่า 75% ของคนไทยที่ตอบแบบสอบถาม คิดว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบไปสู่คนรุ่นลูกรุ่นหลานในระดับป่านกลางถึงร้ายแรง และ 68%

คิดว่าปัญหาดังกล่าว เป็นเรื่องใกล้ตัว อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นของคนไทยเกี่ยวกับความรับผิดชอบ

ในการลดสาเหตุการเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลับพบว่า คนไทยส่วนใหญ่เห็นว่าการแก้ไขปัญหา

เป็นความรับผิดชอบของภาครัฐและภาคธุรกิจคิดเป็นสัดส่วน 40% และมีเพียง 28% ที่คิดว่าเป็น ความรับผิดชอบของคนทุกคน นอกจากนี้ การสำรวจส่วนหนึ่งยังพบว่า มีคนไทยเพียง 35% ที่เห็นว่าควรลดการใช้พลังงานฟอสซิล ผลการสำรวจดังกล่าว สะท้อนถึงความตระหนักและความใส่ใจของคนไทยต่อการแก้ไขปัญหาที่ยังมีไม่มากนัก